ถกเอฟทีเอไทย-ตุรกีตั้งเป้าจบดีลปลายปี61

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับตุรกี เตรียมฉลองครบรอบ 60 ปีในปี 2561 โดยด้านการค้า ทั้งสองประเทศตั้งเป้าหมายร่วมกันที่จะเจรจาการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ให้แล้วเสร็จภายในปลายปีหน้า หลังจากเปิดการเจรจาครั้งแรกแล้วเมื่อวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2560
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนาย Nihat Zeybekçi รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของตุรกี ได้เปิดการเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยกับตุรกี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ณ นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี พร้อมตั้งเป้าการค้าให้มีการขยายตัว 2 เท่า ภายใน 3 ปี
“การเจรจาในรอบแรกระหว่างวันที่ 19-20 กรกฎาคมที่ผ่านมา นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยทั้งสองฝ่ายตกลงให้ความตกลงการค้าเสรี เป็นความตกลงที่ครอบคลุมด้านการค้าสินค้า และประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร มาตรการเยียวยาการค้า มาตรการด้านสุขอนามัย และสุขอนามัยพืช มาตรการทางเทคนิคต่อการค้า เป็นต้น พร้อมกำหนดเจรจาทุก 3 เดือน ซึ่งในครั้งหน้าจะมีขึ้นที่ประเทศไทยช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ และตั้งเป้าเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปลายปี 2561” นายบุณยฤทธิ์ กล่าว

สำหรับประเทศตุรกี เป็นคู่ค้าอันดับที่ 35 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยปี 2559 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1,370.69 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 9.46% และมูลค่าการค้าสองฝ่ายคิดเป็นสัดส่วน 0.33% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 772.34 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 1071.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้ามูลค่า 299.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2560 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 609.30 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 7.81% และมูลค่าการค้าสองฝ่ายคิดเป็นสัดส่วน 0.34% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 419.07 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 514.19 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 13.18% และนำเข้ามูลค่า 95.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนหน้า 14.19%
สินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพ เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าจากตุรกี เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป กระจก แก้ว และผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องประดับอัญมณี ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เป็นต้น
“ การจัดทำเอฟทีเอ ไทย-ตุรกี นี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองประเทศทั้งด้านการค้าและการลงทุน เพราะเป็นการขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งในรูปภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี การส่งออกสินค้าของไทยไปประเทศตุรกีและประเทศใกล้เคียงในภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการลงทุนของทั้งสองประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศ ” นายบุณยฤทธิ์ กล่าว