พาณิชย์โชว์ส่งออกพ.ค.60โต13.2%

การส่งออกของไทยในปีนี้ถือเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแท้จริง หลังจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้นชัดเจน โดยการแถลงตัวเลขล่าสุดเดือน พ.ค. 60 ขยายตัวสูงถึง 13.2%
จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำสถิติสูงสุดในรอบ 52 เดือน ด้วยมูลค่า 19,994 ล้านเหรีญสหรัฐฯ รวมระยะ 5 เดือน เติบโต 7.2%
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศ เดือนพฤษภาคม 2560 ว่าการส่งออกมีมูลค่า 19,994 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 13.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 52 เดือน
ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 18.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เกินดุล 944 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
“การส่งออกที่เพิ่มขึ้น เป็นไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยการค้าโลก ณ เดือนเมษายน ขยายตัว 2.8% ตลาดส่งออกสำคัญขยายตัวดีขึ้นทุกตลาด และกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ ขยายตัวทุกกลุ่มยกเว้นอัญมณีที่ติดลบเล็กน้อย” นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่เติบโตมาจากฐานการส่งออกต่ำจากปีก่อนด้วย โดยเดือนพฤษภาคม 2559 การส่งออกมีมูลค่า 17,616.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 4.40%
สำหรับระยะ 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกมีมูลค่า 93,264 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ามีมูลค่า 88,211 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 15.2% และการค้าเกินดุล 5,054 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ ตลาดส่งออกสำคัญๆ ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยตลาดจีน ขยายตัว 28.3% สินค้าสำคัญได้แก่ ผลิตผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันสำเร็จรูป ยางพารา เครื่องจักรกลฯ และ เม็ดพลาสติก ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัว 25.7% สินค้าสำคัญ ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ เครื่องจักรกลฯ ยางพารา ไก่แปรรูป และ ทองแดงฯ
ตลาดยุโรป ขยายตัว 13.3% สินค้าสำคัญคือ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลฯ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 8.8% สินค้าสำคัญคือ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบฯ เหล็กและผลิตภัณฑ์ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ
ตลาด CLMV ขยายตัว 14.3% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ หม้อแบตเตอรี่ฯ และ อัญมณีและเครื่องประดับ ตลาดอาเซียน 5 ขยายตัว 14.2% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย เครื่องยนต์สันดาปฯ และ เครื่องจักรกลฯ
ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัว 18% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อากาศยานและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ยานพาหนะอื่น ๆ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และ เครื่องปรับอากาศฯ ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัว 13.5% สินค้าสำคัญได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา และ เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบฯ
ตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัว 11.7% ซึ่งขยายตัวสูงสุดในรอบ 38 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว อาหารทะเลแปรรูปฯ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และยางพารา
“อย่างไรก็ตาม การส่งออกแม้จะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ในช่วงครึ่งปีหลังตัวเลขอาจจะดูไม่ดีเท่าในครึ่งปีแรก กระทรวงพาณิชย์ จึงยังขอคงเป้าหมายการขยายตัวทั้งปีไว้ที่ 5% จากปัจจัยเสี่ยงนโยบายกีดกันทางการค้า ทิศทางอัตราดอกเบี้ย และความชัดเจนในการปรับลดวงเงินถือครองทรัพย์สินลงของสหรัฐฯ ซึ่งสร้างความผันผวนต่ออัตราแลกเปลี่ยน” นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว