3 กลยุทธ์พิชิตใจผู้บริโภคยุค 4.0
ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น กลายเป็นผู้บริโภคยุค 4.0 สินค้าไลฟ์สไตล์เข้ามาครองใจ ท่องเที่ยวมีมากขึ้นหากรายได้เพิ่มขึ้น ด้าน อีไอซี ธนาคารพาณิชย์ แนะ 3 กลยุทธ์ที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย
นายวิธาน เจริญผล ผู้อำนวยการคลัสเตอร์ธุรกิจบริการ Economic Intelligence Center (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า พฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยในยุค 4.0 เน้นเสพสื่อบันเทิง และยินดีจ่ายเงินไปกับการท่องเที่ยวมากเป็นอันดับหนึ่งเมื่อมีรายได้สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังคนไทยยังช่างเลือก หาข้อมูลมากขึ้น ต้องการสินค้าและบริการที่เฉพาะเจาะจงกับตัวเอง และกล้าซื้อสินค้าและบริการที่ปรับแต่งตามความต้องการเฉพาะบุคคลได้
ทั้งนี้ การสำรวจผู้บริโภคในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จำนวนกว่า 5,000 คน อีไอซีพบว่า 75% ของผู้บริโภคใช้เวลาว่างกับการเล่นอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย และหากมีรายได้มากขึ้น ผู้บริโภคถึง 70% มีแนวโน้มการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวมากเป็นอันดับหนึ่ง กลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้ที่มีรายได้มากขึ้น ยังใช้จ่ายนอกบ้านสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุเน้นความเป็นอยู่ที่ดี จะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงที่อยู่อาศัย
นอกจากนี้ 80% ของผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่ปรับแต่งตามความต้องการเฉพาะบุคคลได้ หรือได้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้น การหาข้อมูลในสื่อออนไลน์ยังคงเป็นช่องทางสำคัญโดยเฉพาะเกี่ยวกบการท่องเที่ยวและร้านอาหาร ขณะที่ตลาดอี-คอมเมิร์ซ แม้จะยังเป็นสัดส่วนน้อยในมูลค่าค้าปลีกรวม แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตสูงต่อเนื่องเฉลี่ย 13%
“ผู้บริโภคที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ล้วนเคยซื้อของทางออนไลน์ เพียงแต่ยังไม่ใช่ช่องทางหลักโดยใช้บริการเพียง 1-2 ครั้งต่อเดือน แต่ก็เชื่อว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น” นายวิธาน กล่าว
สำหรับภาคธุรกิจเอง จำเป็นจะต้องปรับกลยุทธ์ใหม่เพื่อพิชิตใจผู้บริโภคในยุค 4.0 โดยนายวิธาน กล่าวว่า มี 3 กลยุทธ์ที่เหมาะกับภาคธุรกิจในปัจจุบัน คือ 1.การร่วมมือเป็นพันธมิตรกันภายในห่วงโซ่การผลิต (Value Chain) มากขึ้น และอาศัยระบบข้อมูล (Big data) มาช่วยวางแผนธุรกิจ วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคและตอบสนองให้ตรงกับโจทย์
2.การสร้างความซื่อสัตย์ต่อตราสินค้าไม่เพียงพอ แต่ธุรกิจที่จะอยู่รอดอย่างยั่งยืนต้องสร้างความผูกพันและปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า เพราะคนไทยยังให้ความสำคัญค่อนข้างมากกับบริการหลังการขายและคุณภาพสินค้า และ 3.การพัฒนาช่องทางในการเข้าถึงลูกค้า ไม่เพียงแค่มีหลายช่องทาง แต่ทุกช่องทางต้องเชื่อมโยงกันทั้งหมดเสมือนเป็นช่องทางเดียวกัน (Omni-channel) เช่น หลายสาขาของร้านเดียวกันต้องมีโปรโมชั่นเหมือนกัน