คลังปรับใหม่จีดีพี’63 เหลือ -7.7% ส่วน’64 โต 4.5%
คลังปรับใหม่จีดีพีปี’63 ขยับจาก -8.5% เหลือ -7.7% หลังมาตรการรัฐมีส่วนหนุนเศรษฐกิจ 0.54% ส่วนคาดการณ์’64 เชื่อจีดีพีโต 4.5% ยอมรับไม่นำการเมืองการร่วมประเมิน มั่นใจรัฐบาลแก้ปัญหาม็อบได้
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะ รองโฆษกกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษก สศค. และ นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผอ.สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหาภาค สศค. ร่วมแถลงภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือน ก.ย.เมื่อช่วงสายวันที่ 29 ต.ค.2563 ณ กระทรวงการคลัง
ไฮไลต์ที่น่าสนใจอยู่ที่การปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2563 ใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังคาดการณ์จีดีพีปี 2563 ว่าอาจ -8.8% ล่าสุด นายพรชัย ระบุว่า จากปัจจัยบวกทั้งเรื่องเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ 15 ประเทศ ค่าเงินบาท ราคาน้ำมันโลก จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และรายจ่ายภาคสาธารณะ ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้กระทรวงการคลังปรับประมาณการจีพีดีของปี 2563 ใหม่ เป็น -7.7% โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะอยู่ที่ -3.0% การบริโภคภาครัฐ 4.0% การลงทุนภาคเอกชน -9.8% การลงทุนภาครัฐ 10.5%
นอกจากนี้ ยังประเมิน ภาคการส่งออกทั้งปีว่าจะ -20.9% นำเข้า -14.4% ขณะที่ดุลการค้าของไทยจะเกินดุลอยู่ที่ 34.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 14.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับเงินเฟ้อทั่วไป -0.9% และเงินเฟ้อพื้นฐาน 0.3%
ส่วน แนวโน้มในปี 2564 นั้น รองโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า จีดีพีปี’2564 อยู่ที่ 4.5% โดยที่การบริโภคภาคเอกชนจะอยู่ที่2.6% การบริโภคภาครัฐ 5.8% การลงทุนภาคเอกชน 4.0% การลงทุนภาครัฐ 12.2% ด้านการส่งออกจะกลับมาโตที่ระดับ 5.4% นำเข้า 5.7% ขณะที่ดุลการค้าของไทยจะเกินดุลอยู่ที่ 32.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 13.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับเงินเฟ้อทั่วไป 1.0% และเงินเฟ้อพื้นฐาน 0.4%
“กระทรวงการคลังเฝ้าจับตาความเป็นไปทางการเมือง แต่ไม่ได้นำปัจจัยดังกล่าวมาร่วมในการประเมินภาวะเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้า ส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าปัจจัยการเมืองไม่ได้ทำให้กลไกทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก อีกทั้งยังเชื่อว่ารัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีจะแก้ไขปัญหาความเห็นต่างในทางการเมืองได้” รองโฆษกกระทรวงการคลัง ย้ำและว่า
จากนี้จนถึงสิ้นปี 2563 กระทรวงการคลังคงไม่จำเป็นต้องออกมาตรการใหม่ๆ มาเพิ่มเติม เพราะเชื่อว่ามาตรการที่มีอยู่น่าจะมีเพียงต่อการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหลือ ซึ่ง มาตรการที่ผ่านมามีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2563 ราว 0.54% ของจีพีดี อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่กระทรวงการคลังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด คือ การที่ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย อาจต้องเผชิญกับการกลับมาระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ หากจำเป็น กระทรวงการคลังก็พร้อมจะมีมาตรการพิเศษ รองรับเหตุการณ์เหล่านี้.