เปิดตัว e-Withholding Tax สร้าง “5 ลด”
“บิ๊ก’แบงก์” ร่วมเปิดตัว e-Withholding Tax ด้านอธิบดีกรมสรรพากร ย้ำ! ช่วยสร้าง “5 ลด” แถมผู้เกี่ยวข้องเข้าเกณฑ์รับคืนภาษีเร็วขึ้น เผย! ช่วงโปรฯ ลดเงินหักภาษี ณ ที่จ่าย เหลือ 2% เริ่ม 1 ต.ค.63 – 31 ธ.ค.64 ระบุ! ไม่ทำรายได้กรมสรรพากรหายไป
หลังจากเลื่อนนัดหมายกันมาหลายครั้ง ที่สุด! เมื่อบรรดา นายแบงก์ระดับ “บิ๊กเนม” ตอบรับเข้าร่วมงานเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย อิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) ของกรมสรรพากร งานนี้…จึงเกิดขึ้น ณ ห้องพระอุเทน 1 กรมสรรพากร เมื่อช่วงสายวันที่ 27 ต.ค.2563
คนระดับ…นายชาติศิริ โสพณพนิช กก.ผจก.ใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ นายพิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ กก.ผจก.ธนาคารกสิกรไทย นายปิติ ตัณฑเกษม ปธ.จนท.บห. ธนาคารทหารไทย นายพลากร หวั่งหลี กก.ผจก.ใหญ่และ ปธ.จนท.บห. ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (ไทย) โดยเฉพาะ Mr.Tetsuo Ota ผจก.ทั่วไป ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ฯลฯ
ใช่ว่าจะมาร่วมตัวบนเวทีเดียวกันได้ง่ายๆ แต่สิ่งนี้…ก็เกิดขึ้นมาแล้ว และจะถูกขยายผลในเชิงกลยุทธ์ ตามที่ธนาคารพาณิชย์ ในฐานะ “ผู้ให้บริการระบบฯ” แต่ละแห่งจะวางกลยุทธ์การดำเนินงาน
ยกเว้น! นายผยง ศรีวณิช กก.ผจก.ใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย นั่นเพราะธนาคารกรุงไทย ได้ชื่อว่าเป็นธนาคารของรัฐ แถมยุคสมัยหนึ่ง ธนาคารแห่งนี้ ได้ “ประธานบอร์ด” ที่ชื่อ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส อธิบดีกรมสรรพากร
จึงไม่แปลก! ที่ทุกๆ เวทีอันเกี่ยวเนื่องจากนโยบาย/มาตรการของรัฐ และหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง จะได้เห็น นายผยง เข้าร่วมงานฯ
นายเอกนิติ ระบุว่า ความร่วมมือที่ได้รับจากสมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ ซึ่งเบื้องต้นมี 9 ธนาคารที่ร่วมตอบรับเข้าร่วมโครงการฯแล้ว และอีก 2 ธนาคาร ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบระบบ ทำให้ e-Withholding Tax ที่เริ่มดำเนินการผ่านสถาบันการเงินอย่างจริงจัง เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น…ผู้ว่าจ้าง (จ่ายเงิน/นิติบุคคล) ธนาคารพาณิชย์ (หักเงิน) และผู้รับจ้าง (รับเงิน/ถูกหัก ณ ที่จ่าย)
“e-Withholding Tax เป็นหนึ่งในระบบภาษี่กรมสรรพากรได้พัฒนาขึ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงการทำงานสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) โดยให้ผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นเรื่องง่าย” อธิบดีกรมสรรพา ระบุและว่า ข้อดีของโครงการนี้ สามารถช่วย ลด 5 สิ่ง ที่เคยเป็นปัญหาของผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย…
1.ลดขั้นตอนและเวลา ในการชำระภาษีหัก ณ ที่จ่าย, 2.ลดต้นทุน ในการเก็บรักษาเอกสารและการเดินทางไปยื่นแสดงรายการการหัก ณ ที่จ่ายกับกรมสรรพากร, 3.ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากผู้มีรายได้ (รับจ้างทำงานและผลิตสิ่งของ) ตาม ภ.ง.ด.3 และ ภ.ง.ด.53 จากเดิม 3% เหลือเพียง 2% ในช่วงเดือน 1 ต.ค.63 – 31 ธ.ค.64, 4.ลดความปวดหัว ที่จะต้องเก็บรักษาและนำส่งเอกสารการหักภาษี ณ ที่จ่าย รวมถึงไม่ต้องกังวลใจว่าผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย จะนำส่งรายได้ให้กรมสรรพากรหรือไม่ และ 5.ลดการถูกตรวจสอบจากกรมสรรพากรซึ่งผู้ที่อยู่ในระบบ e-Withholding Tax ยังจะถูกจัดชั้นให้อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับคืนเงินภาษีเร็วขึ้นอีกด้วย
“แต่ละปี กรมสรรพากรมีการจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย ประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเดิม 3% เหลือเพียง 2% ไม่ทำให้รายได้ภาษีของกรมสรรพากรลดลง แต่ไปเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้รับจ้าง (รับเงิน/ถูกหัก ณ ที่จ่าย) ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้ว จะต้องนำหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ไปคำนวนจ่ายภาษีเงินได้ฯในปลายปีอยู่ดี” นายเอกนิติ ย้ำและว่า ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ตลอดเวลา 24 ชม. ที่ www.rd.go.th
ด้าน นายผยง กล่าวในฐานะ ประธานสมาคมธนาคารไทย ว่า ธนาคารพาณิชย์ยินดีเข้าร่วม e-Withholding Tax และพร้อมจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะเห็นถึงความสำคัญของระบบฯ ที่จะช่วยให้การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ง่ายและสะดวกขึ้น ทั้งนี้ จากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 พบว่า การสั่งซื้อสินค้าและการชำระเงินผ่านระบบ e-Payment เติบโตอย่างมาก ซึ่ง e-Withholding Tax จะช่วยผลักดันให้ระบบการชำระเงินของประเทศ เข้าสู่ระบบดิจิทัล
ขณะที่ นายชาติศิริ การที่ธนาคารฯเข้าร่วมโครงการและนำระบบ e-Withholding Tax มาใช้ จะทำให้การดำเนินงานกลายเป็นส่วนหนึ่งของบริการทางธุรกิจตามปกติ โดยธนาคารฯมีแผนจะเปิดให้บริการ e-Withholding Tax ในต่างประเทศในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า.