คลังสั่งแบงก์รัฐ อุ้มรายย่อย-SMEs ต่อ
“อาคม-สันติ” ประสานเสียงดันแบงก์รัฐ กู้ชีพเอสเอ็มอี-รายย่อย หลังมาตรการช่วยเหลือหมดโปรฯ ย้ำ! แยกคุยลูกหนี้รายตัว จากทั้งหมดกว่า 6 ล้านราย วงเงิน 2.89 ล้านบาท เผย! เกณฑ์แบงก์ชาติ “แดง-เหลือ-เขียว” ไม่รองรับการจัดชั้นลูกหนี้ของแบงก์รัฐ แต่จะเตรียมตั้งสำรองสกัดความเสี่ยงหนี้สูญ ด้าน รมช.คลัง แนะผู้บริหารแบงก์รัฐ สร้างแรงจูงใจลูกค้ากลุ่มสีเขียว ที่ไม่ต้องการเข้าปรับโครงสร้างหนี้ แนะเช็คด่วน! ใครลูกหนี้แบงก์ไหน?
ทันทีที่ มาตรการพักชำระหนี้ “เงินต้นและดอกเบี้ย” ของสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชนสิ้นสุดลงนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ต.ค.2563 ที่ กระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และ นายกฤษฏา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดแถลงถึงมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) หลังจากนี้ โดยเชิญ ผู้บริหารระดับสูงจากธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank มาร่วมชี้แจง
นายอาคม ระบุว่า แบงก์รัฐมีฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายย่อย ดังนั้น จึงกำหนดแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบ SMEs และลูกหนี้รายย่อย 2 แนวทางสำคัญ คือ
แนวทางที่ 1 : ให้เร่งติดต่อและหารือกับลูกหนี้แต่ละรายเพื่อกำหนดการช่วยเหลือที่สอดรับกับสถานการณ์ของลูกหนี้แต่ละราย ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดังนี้
1.1 ผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังได้รับผลกระทบสูงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19) และยังไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้หรือมีรายได้ไม่แน่นอน โดยจะขยายระยะเวลาการชะลอการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 6 เดือน นับจากสิ้นปี 2563 เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวมีสถานะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดฯคลี่คลาย
1.2 ผู้ประกอบการ SMEs ที่เริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจได้แต่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวเนื่องจากยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดฯ โดยจะเร่งปรับโครงสร้างหนี้ภายในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ เพื่อให้เงื่อนไขการจ่ายหนี้เหมาะสมกับสถานการณ์ของลูกหนี้และลดภาระของลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวในระยะยาว
1.3 ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความพร้อมและสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ โดยจะรับชำระหนี้ตามปกติ เพื่อลดภาระของลูกหนี้ตลอดระยะเวลาสัญญา เนื่องจากลูกหนี้ยังต้องรับภาระดอกเบี้ยในช่วงที่ได้รับการพักชำระหนี้
แนวทางที่ 2 : ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับการพักหนี้ตามมาตรการอื่นๆ ของแบงก์รัฐ โดยกระทรวงการคลังมีนโยบายให้ดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการพักชำระหนี้ ภายใต้มาตรการอื่นๆ ตามสถานการณ์ของลูกหนี้แต่ละรายและบริบทของระบบเศรษฐกิจ ดังนี้
2.1 การขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ให้กลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้หรือมีรายได้ไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโควิดฯ
2.2 การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เงื่อนไขการชำระหนี้สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ในช่วงเวลานี้และให้ลูกหนี้ดำเนินชีวิตหรือธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
2.3 การให้สินเชื่อเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจให้เหมาะสมกับพัฒนาการของแต่ละอุตสาหกรรม และเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่ประชาชนรายย่อยเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพหรือใช้จ่ายในการดำรงชีพ
และ 2.4 การให้แรงจูงใจแก่ลูกหนี้ที่มีศักยภาพกลับมาชำระหนี้ตามปกติ เพื่อลดภาระหนี้ของลูกหนี้ตลอดระยะเวลาสัญญาและป้องกันปัญหาวินัยทางการเงิน (Moral Hazard)
รมว.คลัง ย้ำว่า ความร่วมมือของลูกหนี้และสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อให้การดำเนินการตามแนวทางข้างต้นมีประสิทธิภาพสูงสุดและบรรลุวัตถุประสงค์ กระทรวงการคลังมอบหมายให้แบงก์รัฐถือเป็นภารกิจสำคัญในการติดตามช่วยเหลือลูกหนี้ทุกรายอย่างใกล้ชิด และขอความร่วมมือให้ลูกหนี้ติดต่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
“กระทรวงการคลังมีความมุ่งหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวอย่างเต็มกำลังความสามารถและคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกหนี้ ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และลูกหนี้รายย่อยได้อย่างตรงจุดและตอบสนองความต้องการของลูกหนี้ได้อย่างแท้จริง และยังเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกหนี้เปลี่ยนสถานะเป็น NPLs ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs มีเวลาเพียงพอในการปรับตัว ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลังและการปรับโครงสร้างธุรกิจของตัวเอง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19” นายอาคม ระบุ
ทั้งนี้ ยอดหนี้คงค้างทั้งระบบ (แบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐ) มีรวมกันราว 12.12 ล้านราย หรือราว 6.9 ล้านล้านบาท จำนวนนี้ เป็นหนี้คงค้างในส่วนของแบงก์รัฐ 6.57 ล้านราย หรือราว 2.89 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริหารแบงก์รัฐจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ภายใต้กรอบการดำเนินงานและการตัดสินใจของตนเอง แต่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน
ด้าน นายสันติ กล่าวว่า ตนได้ขอให้ผู้บริหารแบงก์รัฐได้พิจารณาถึงมาตรการพิเศษเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ไม่มีปัญหา และกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ ซึ่งไม่ประสงค์จะปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ โดยเฉพาะ การพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ระหว่าง 0.5-2%
อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ปัญหาให้กับลูกหนี้รายย่อย และผู้ประกอบ SMEs ของแบงก์รัฐ ไม่อาจยึดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการแบ่งกลุ่มลูกหนี้เป็น “แดง-เหลือ-เขียว” เช่นที่ ธปท.กำหนดไว้ได้ เพราะฐานลูกหนี้ส่วนใหญ่ของแบงก์รัฐคือลูกหนี้รายย่อย ซึ่ง ผู้บริหารระดับสูงของทั้ง ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธอส. SME D BANK รวมถึงแบงก์รัฐอื่นๆ เห็นตรงกันว่า จำเป็นจะต้องดำเนินการแก้ไขภายใต้แนวทางของตนเอง
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหานี้เสียที่อาจจะเกิดขึ้นตามในอนาคต แบงก์รัฐทุกแห่งต่างตั้งสำรองหนี้เสียในสัดส่วนที่สูงกว่ามาตรฐานของ BIS โดย ธนาคารออมสินตั้งสำรองไว้ที่ 15.4 หรือ 1.2 เท่าของ NPL, ธ.ก.ส. 12.5 หรือ 5.6 เท่าของ NPL ขณะที่ ธอส.ตั้งสำรองไว้ที่ 15.3 หรือ 1.6 เท่าของ NPL ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่สามารถรองรับความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
• ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร 1213 หรือ https://www.1213.or.th/App/DebtCase
• ธนาคารออมสิน โทร 1115
• ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร 0-2555-0555
• ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร 0-2202-2000
• ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร 0-2271-2929
• ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร 1357
• ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร 1302
• บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร 0-2890-9999.