มาตรการรัฐสู้โควิดฯทำสรรพากรสูญเฉียด 2 หมื่นล.
พิษมาตรการรัฐสู้โควิดฯ ทำรายได้สรรพากรวูบ เฉียด 2 หมื่นล้านบาท จ่อคุย สศค. ขอปรับประมาณการรายได้ใหม่ จากเดิม 2.085 ล้านล้านบาท
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงผลกระทบจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษีจากค่าซื้อสินค้าและบริการตามเงื่อนไขที่ทางการกำหนด แต่ไม่เกิน 30,000 บาท โดยจะเริ่มใช้จ่ายได้วันแรกในวันที่ 23 ต.ค.63 นี้ ว่า ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรอย่างแน่นอน อีกทั้งยังมีมาตรการทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่รัฐบาลได้ออกไปก่อนหน้านี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะเริ่มมีผลรับรู้การสูญเสียรายได้ในปีงบประมาณ 2564 คาดว่าจะทำให้ภาพรวมรายได้ของกรมสรรพากรฯหายไปเยอะพอสมควร แต่คงไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท
ด้าน นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากรกล่าวว่า เบื้องต้นทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินตัวเลขการสูญเสียรายได้เฉพาะจากมาตรการดังกล่าวราว 1.4 หมื่นล้านบาท ภายใต้คาดการณ์มูลค่าการใช้จ่าย 1.1แสนล้านบาท บนพื้นฐานผู้เสียภาษีทั้งหมด 3.7 ล้านคน
โดยจำนวนนี้ มีกลุ่มผู้มีรายได้สุทธิต่อปีระหว่าง 750,001 – 5 ล้านบาท ซึ่งมีฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่ 20-30% และมีสัดส่วนมากที่สุด ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ทำให้กรมฯสูญเสียรายได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ แต่ไม่อาจประเมินได้ว่าจะมีเม็ดเงินรายได้ที่สูญเสียไปเท่าใด เนื่องจากสินค้าและบริการบางส่วนไม่อยู่ในข่ายจะต้องเสียภาษี เพราะเป็นสินค้าในกลุ่มการเกษตรและสินค้าโอทอป ซึ่งไม่มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (7%) แต่อย่างใด
“ผลจากมาตรการช้อปดีมีคืน จะทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้มากกว่าเมื่อครั้งที่ออกมาตรการช้อปช่วยชาติ ที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน 15,000 บาท โดยสูญเสียรายได้ไปเพียง 9,600 ล้านบาท” โฆษกกรมสรรพากร ระบุและว่า อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมานี้ เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนได้เพิ่มขึ้น และมำให้กรมฯมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นตามมา
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่รัฐบาลได้ออกไปก่อนหน้านี้ และเริ่มมีผลรับรู้การสูญเสียรายได้ในปีงบประมาณ 2564 คาดว่าจะทำให้รายได้ของกรมฯหายไปเยอะพอสมควร ซึ่งในการประชุมร่วมกับสศค.ครั้งต่อไป เชื่อว่าจะมีการปรับลดประมาณการรายได้ของกรมฯใหม่
ส่วนการจัดเก็บรายได้ในปี 2564 นางสมหมาย ยอมรับว่า อาจจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2.085 ล้านล้านบาท อันเป็นผลพวงมาจากมาตการลดหย่อนภาษีเพื่อประคองเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบโควิด-19.