“อาคม” สั่งรุกประกันฯ คลุม “เกษตร-ท่องเที่ยว-อุตฯ-คมนาคม”
“อาคม” ฝากงานประกันภัยให้ คปภ.ขยายผลต่อ รุกทั้ง “ภาคเกษตรกร-อุตสาหกรรม-คมนาคมขนส่ง” ชี้! อุตฯประกันฯไทย ช่วยลดภาระงบประมาณของรัฐ พร้อมเดินหน้าสาง กม.เก่าล้าสมัย หวังยกระดับประกันฯไทยขึ้นเบอร์ 1 อาเซียน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวภายหลังเป็นประธานมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร ประจำปี 2563 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม ร.ร.เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล ลาดพร้าว กรุงเทพฯ เมื่อช่วงสายวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า ระบบประกันภัยเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับประเทศ ไม่เพียงสร้างหลักประกันด้านการประกันภัยให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ หากยังมีส่วนช่วยรัฐบาล ทั้งในด้านการเป็นแหล่งลงทุนให้กับโครงการของรัฐ เช่น โครงการไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ รวมถึงเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระด้านงบประมาณ เช่น การจ่ายสินไหมคุ้มครองกรณีเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554 ซึ่งมีการจ่ายเงินชดเชยฯมากกว่า 4 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ตนจะหารือกับบอร์ด คปภ. ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานฯ และเลขาธิการ คปภ. เกี่ยวกับการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เพื่ออำนวยความสะดวกและยกระดับอุตสาหกรรมประกันภัยของไทย ก้าวสู่ความเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศอาเซียนในอนาคตอันใกล้
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับระบบประกันภัยพื้นฐานแก่ประชาชนที่ด้อยโอกาสในสังคม โดยเฉพาะระบบประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ (PA) เพราะกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างแรงงาน ต่างก็มีระบบประกันสุขภาพคอยดูแลอยู่แล้ว แต่กับประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดบสิ่งนี้ ซึ่งมอบหมายให้สำนักงาน คปภ.จัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอมาให้พิจารณา” รมว.คลัง ย้ำ
ส่วนกรณีการนำระบบประกันภัยมารวมอยู่ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคนนั้น ตนคิดว่าน่าจะเป็นคนละส่วนกัน เนื่องจากบัตรสวัสดิการฯเป็นเรื่องของการใช้จ่าย แต่ระบบประกันภันสุขภาพ เป็นเรื่องของความมั่นคงในชีวิตของประชาชน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและกระทรวงการคลัง คงต้องรอดูรายละเอียดจากสำนักงาน คปภ. เพื่อพิจารณาในส่วนของงบประมาณที่จะนำมาใช้ต่อไป
นอกจากนี้ ตนยังขอให้ เลขาธิการ คปภ.พิจารณาขยายระบบประกันภัยให้ครอบคลุมไปยังพืชเกษตรอื่นๆ นอกเหนือจากการประกันข้าวนาปี ประกันข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ เพื่อที่เกษตรกรไทยจะได้มีหลักประกันจากการทำเกษตรกรรม รวมถึงพิจารณาขยายระบบประกันภัยไปยังกลุ่มสินค้าที่ได้รับความเสียหายกรณีเกิดอุบัติเหตุจากรถยนต์บนท้องถนน ไม่เพียงแค่นั้น ยังขอให้ช่วยพิจารณานำระบบประกันภัยไปใช้กับภาคการขนส่ง การท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ การขายระบบประกันภัยออนไลน์ และระบบราง ที่อนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย รวมถึงการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)
ขณะที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานบอร์ด คปภ. กล่าวว่า แนวคิดในการนำระบบหลักประกันภัยมาดูแลประชาชน โดยเฉพาะการทำประกันอุบัติเหตุให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 140 ล้านคนนั้น เป็นหลักการที่ดี แต่การดำเนินงานจำเป็นจะต้องอาศัยงบประมาณเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ตนจะติดตามเรื่องดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค.) ต่อไป
ด้าน นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ.จะเร่งดำเนินการในเรื่องต่างๆ ตามที่ รมว.คลัง ได้มอบหมายเป็นนโยบายไว้ให้ โดยเฉพาะในเรื่องการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่ล้าสมัย รวมถึงพิจารณาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ รองรับทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการคมนาคมขน เพื่อสร้างระบบประกันภัยครอบคลุมคนทุกกลุ่ม รวมถึงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ส่วนการทำประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นอีกภารกิจสำคัญที่ รมว.คลัง เน้นย้ำให้เร่งดำเนินการนั้น ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวต่างชาติ สามารถจะซื้อระบบประกันภัยการเดินทางผ่านออนไลน์ได้อยู่แล้ว และสามารถจะเลือกซื้อประกันจากประเทศต้นทางหรือซื้อประกันภัยจากบริษัทในประเทศไทยก็ได้ ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะเร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุกในเรื่องนี้ให้มากที่สุด.