“คลังใต้อาคม” รุกดึงต่างชาติเที่ยวเพื่อลงทุน
ก.คลัง ยุค “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เน้นเปิดกว้างเศรษฐกิจ ประสานทูตพาณิชย์ ดึงทุนต่างชาติ กลุ่ม Investment Tourism เข้าไทย ลุยทั้งในและนอกพื้นที่ EEC เผย! ยกแบงก์ชาติ ตัดสินใจ ขยายเวลายืดพักหนี้เอกชนหรือไม่? ยันทั่วโลก ตีกรอบเวลาแน่นอน หมดโปรฯ เอกชนต้องทำ “2 ปรับ” ย้ำ! 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เน้นโปร่งใสและดันถึงมือประชาชน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ร่วมประชุมมอบนโยบายให้กับข้าราชการกระทรวงการคลัง โดยมี นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ในสังกัดกระทรวงการคลัง และ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง เมื่อช่วงสายวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา
นายอาคม กล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินการมาตรการต่างๆ ในระยะเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ล่าสุด เป็นช่วงของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการ “เพิ่มกำลังซื้อฯ” “คนละครึ่ง” และ “ช้อปดีมีคืน” ซึ่งมาตรการหลังจะนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการนี้จะต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น
ทั้ง 3 มาตรการจะเชื่อมโยงถึงกัน บางมาตรการเน้นช่วยเหลือร้านค้ารายย่อย บางมาตรการเน้นเพิ่มกำลังซื้อให้ภาคประชาชน ทั้งนี้ ทุกมาตรการ ประโยชน์จะต้องตกไปถึงประชาชนให้มากที่สุด
“ได้ให้นโยบายไปว่า กระทรวงการคลังเป็นหน่วยรับและจ่ายงบประมาณ จำเป็นจะต้องเข้มงวดในเรื่องวินัยการเงินการคลัง ทำให้เป็นตัวอย่างแก่ส่วนราชการอื่นๆ โดยเฉพาะในเรื่องความโปร่งใส” รมว.คลัง ย้ำ และว่า นอกจากการดูแลเศรษฐกิจในภาวะเร่งด่วนแล้ว ยังดูแลภาพรวมเศรษฐกิจ ในระดับมหภาค ซึ่งจะต้องหารืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเศรษฐกิจมหภาค ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และ ธปท.
โดยเฉพาะการลงทุนทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ด้านการลงทุนภาครัฐ ได้เร่งรัดการเบิกจ่าย โดยยึดกรอบวินัยการเงินการคลัง รวมถึงยึดกรอบของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ แม้สังคมไทยจะได้เห็นความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ แต่หากโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างพื้นฐาน สามารถเปิดให้บริการได้ก็น่าจะเป็นประโยชน์และเป็นสิ่งที่สังคมไทยอยากเห็นมากกว่า
ในส่วน การลงทุนภาคเอกชน รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะได้หารือร่วมกันถึงการทำงานเชิงรุก เพื่อดึงกลุ่มทุนเข้ามาลงทุนในไทย ตาม “นโยบายเปิดกว้างเศรษฐกิจ” ที่จะเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อการลงทุน (Investment Tourism) นอกเหนือจากกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
โดย กลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อการลงทุน แบ่งเป็นกลุ่มทั่วไปและกลุ่มพิเศษ ซึ่งกลุ่มหลัง ภาครัฐจะประสานไปยังสถานทูตไทยในต่างประเทศ เพื่อดึงดูดเข้ามาลงทุน ทั้งในและนอกพื้นที่อีอีซี โดยจะให้แรงจูงใจพิเศษตามความต้องการที่เขามีและเราให้ได้
“การลงทุน ไม่ได้มีเฉพาะการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค หรือคมนาคม และพลังงาน แต่ยังมีการลงทุนในด้านการเพิ่มขีดการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย และการลงทุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุน”รมว.คลัง ระบุ
สำหรับ ปัญหาด้านสภาพคล่องของเอกชน โดยเฉพาะ มาตรการพักและยืดเวลาชำระหนี้ที่ใกล้จะสิ้นสุดลง นั้น นายอาคม ย้ำว่า ขึ้นกับนโยบายของ ธปท.จะต่ออายุมาตรการดังกล่าวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากแนวทางของธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ จะเห็นว่า เมื่อครบอายุมาตรการฯ จะไม่มีการขยายเวลา เพราะทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถวางแผนงานได้ เนื่องจากต้องรอดูนโยบายของรัฐ
ทั้งนี้ หากมีการกำหนดกรอบเวลาในมาตรการพักและยืดเวลาชำระหนี้ที่แน่นอน เมื่อสิ้นสุดมาตรการฯ ภาคเอกชนจะได้ดำเนินการปรับปรุงใน 2 เรื่อง คือ ปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ และ ปรับองค์กรของตัวเองว่าควรจะอยู่ในธุรกิจนี้ต่อไปหรือเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแทน
ส่วนประมาณการจัดเก็บรายได้ของปีงบประมาณ 2564 นั้น นายอาคมที่เพิ่งเข้าทำงานเป็นวันแรก มอบให้ปลัดกระทรวงการคลังตอบคำถามนี้แทน ซึ่ง ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เพิ่งผ่านงบฯปี 2564 มาได้เพียงสิบกว่าวัน จึงเร็วเกินไป ที่ตอบว่ากระทรวงการคลังจะจัดเก็บรายได้ตามเป้าหรือไม่ ทั้งนี้ จะมีการประเมินสภาพเศรษฐกิจและปรับประมาณการในทุกไตรมาสอยู่แล้ว.