Reopening + ใช้จ่ายในประเทศ = กระตุ้นเศรษฐกิจไทย
“อาคม” ย้ำ! ทำงานกับใครก็ได้ ยึดเนื้องานเป็นหลัก เผย! เตรียมหารือ “รองนายกฯพงศ์” ทลายเงินกู้ซอฟท์โลนที่ค้างท่อและค้างเติ่งมานาน ระบุ! จำต้อง Reopening รับต่างชาติ เสริมการใช้จ่ายในประเทศ ดันเศรษฐกิจไทย เหตุต้องอยู่กับไวรัสโควิด-19 ตลอด 2 ปีนับจากนี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวภายหลัง พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 10 รูปเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตฯ เมื่อช่วงสายวันที่ 12 ต.ค.ที่กระทรวงการคลัง ว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆนั้นขณะนี้มีศูนย์บริหารเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) ดูแลรับผิดชอบซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี แบ่งเป็น มาตรการระยะเร่งด่วน หลังจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกและสองติดลบอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับทุกประเทศทั่วโลกที่ได้รับกระจากโควิด-19 เช่นกัน
ทั้งนี้ มีภาคธุรกิจจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ จนต้องประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเศรษฐกิจในส่วนของภาคธุรกิจและภาคประชาชนมีสัดส่วนรวมกันมากถึงร้อยละ 70 ของจีดีพี ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งเข้าไปดูแลเป็นการเร่งด่วน
อีกทั้งปัญหาโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ เพราะภาครัฐออกมาตรการคุมเข้ม ทำให้การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคแทบไม่มี แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการไปบ้างแล้ว แต่อัตราการใช้จ่ายภายในประเทศก็ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำ ทำให้ ศบศ.จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นๆ ออกมา เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภาคประชาชนให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นสร้างกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 50 ของจีดีพี
สำหรับอุตสาหกรรมสาขาที่ได้รับผลกระทบนั้น นายอาคม ย้ำว่า แม้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง จะถูกรวมเข้าสู่มาตรการการดูแลจากภาครัฐ แต่มีบางธุรกิจ เช่น ธุรกิจการบิน และธุรกิจโรงแรม ที่อาจไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการเสริมสภาพคล่องมากนัก จำเป็นจะต้องเร่งหาทางช่วยเหลือเป็นการด่วน ทั้งนี้ ตนจะหารือกับ นายสุพัฒนพงศ์ พนธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ถึงเรื่องการขับเคลื่อนและเร่งรัดปัญหาข้อติดขัด โดยจำเป็นจะต้องรีบดำเนินการในทันที
โดยเฉพาะในส่วนของ เงินกู้ซอฟท์โลน ที่ ศบศ.มอบหมายให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปหารือกับสภาพัฒน์ เพื่อแยกแยะว่า หนี้ส่วนไหนเกิดจากผลประกอบการ ส่วนไหนเกิดจากผลกระทบของโควิด-19 เพื่อจะได้ช่วยเหลืออย่างถูกต้อง ส่วนจะมีมาตรการเสริมอื่นๆ อีกหรือไม่นั้น กระทรวงการคลังเป็นเพียงกลไกหนึ่งที่ดูแลเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลและศบศ.จะต้องพิจารณา
“การใช้จ่ายภาครัฐที่มีสัดส่วนร้อยละ 20 ของจีดีพีเป็นเรื่องที่จะต้องดูแล จะต้องล้างท่อที่ติดขัด เพื่อไม่ให้เกิดภาวะเงินค้างท่อ แบะมีเม็ดเงินเข้าสู่ในกระแสเศรษฐกิจ” รมว.คลัง ย้ำและว่า คู่ขนานกันไป กระทรวงการคลังจะเร่งรัดการเบิกจ่ายของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไปเกี่ยวข้องกับการดูแลกระแสเงินสดของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับทุกฝ่าย ซึ่งขณะนี้ ก็มีกระแสเงินสดเพียงพอ เพียงแต่ต้องดูแลให้ทั่วถึงด้วย
นายอาคม ระบุว่า ในส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณนั้น อะไรที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาชนแล้ว กระทรวงการคลังจะเร่งรัดการเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม การดูแลด้านสภาพคล่องนั้น อาจต้องโฟกัสในบางเซ็กเตอร์ เช่น การท่องเที่ยว เพราะหลังจากนี้ รัฐบาลจะออกมาตรการเศรษฐกิจเปิดเมือง (Reopening Economy) โดยเชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทย ทั้งเพื่อการท่องเที่ยวและการประชุมสัมมนา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข ที่มีส่วนสำคัญในการต่อสู้กับโควิด-19 จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยต่อคนในประเทศ
“นอกจากมาตรการระยะเร่งด่วนแล้ว รัฐบาลจำเป็นจะต้องดูแลในภาพรวมด้วย ซึ่งหลายสถาบันพูดตรงกันว่า โลกจะต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีก 1-2 ปี กว่าจะมีวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19ได้ ดังนั้น จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องดึงเอาเงินจากต่างประเทศ ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยเสริมกับการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งหากทำได้ เศรษฐกิจไทยก็จะฟื้นตัวได้เร็ว ไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมจากเดิมที่กู้มาแล้ว 1 ล้านล้านบาท” รมว.คลัง ย้ำ
ส่วนปัญหาเงินบาทแข็งค่าใกล้แตะที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์นั้น นายอาคม กล่าวว่า เป็นปัญหาโลกแตก อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ที่ ธปท.จะต้องดูแล ซึ่งคงต้องรายงานให้ ศบศ.ทราบในโอกาสต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกกังวลใจในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ รมว.คลังหรือไม่? โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ซึ่งเป็นสายตรงของพรรคพลังประชารัฐ นายอาคม ตอบสั้นๆ ว่า ตนทำงานกับใครก็ได้ โดยจะยึดเรื่องเป็นหลักเท่านั้น.