คลังสวน “หญิงหน่อย” ปมช่วย SMEs
คลังโต้ “หญิงหน่อย” ปมช่วยเหลือเอสเอ็มอี ย้ำ! รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือมาตลอด เผย! จับมือ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และแบงก์ชาติ รวบรวมมาตรการด้านการเงินของสถาบันการเงินช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการเหยื่อโควิด-19
กระทรวงการคลังชี้แจงกรณี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ใน 2 ประเด็น คือ 1) เนื่องด้วยมีข้อเสนอแนะจากหลายภาคส่วน ให้รัฐบาลช่วยเหลือ SMEs ที่ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากมาตรการของรัฐบาลในปัจจุบัน เช่น Soft Loan 500,000 ล้านบาท ของ ธปท. SMEs กว่า 90% เข้าไม่ถึง
และขอให้รัฐบาลเร่งดูแลธุรกิจ SMEs อาทิ การพักชำระหนี้เป็นเวลา 2 ปี ปรับมาตรการให้ SMEs ที่อยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์สามารถกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องได้จริง ตั้งกองทุน SMEs เพื่อให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่อยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์
และ 2) เห็นควรใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์แนวทาง/มาตรการ และผลการดำเนินการช่วยเหลือ SMEs เพื่อเสริมสร้างการรับรู้ต่อประชาชน
กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ชี้แจงว่า ตามข้อเท็จจริงนั้น ปัจจุบันรัฐบาลได้มีมาตรการด้านการเงินเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ SMEs ดังนี้
1. พ.ร.ก. Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยแบ่งการให้ความช่วยเหลือได้ ดังนี้
1) มาตรการสินเชื่อเพิ่มเติม วงเงินรวม 500,000 ล้านบาท โดย ธปท. ให้สถาบันการเงินกู้ยืมในอัตรา0.01% ต่อปี เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้แก่ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 500 ล้านบาท วงเงินไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อคงค้างของลูกหนี้ ณ สิ้นเดือ นธ.ค.2562 คิดดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี โดย SMEs ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก และ 2) พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้กับ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธ.ค. 62 เพื่อให้ SMEs ไม่ต้องมีภาระในการชำระหนี้แก่สถาบันการเงินเป็นระยะเวลา 6 เดือน
2. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงินค้ำประกัน 57,000 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs ที่มีคุณสมบัติตาม พ.ร.ก. Soft Loan คิดอัตราค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี โดยเริ่มค้ำประกันและเก็บค่าธรรมเนียมในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft Loan เพื่อให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อให้ SMEs เพิ่มขึ้น และสามารถปล่อยสินเชื่อในแก่ SMEs ได้ยาวขึ้น ทำให้เกิดความคล่องตัวในการอนุมัติสินเชื่อ และให้ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft Loan ได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ดำเนินมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือ SMEs ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ดังนี้
1. ธนาคารออมสินดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็น SMEs ทั่วไปและ SMEs ในธุรกิจท่องเที่ยวกลุ่มละ 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน ดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อต่อให้ SMEs วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยร้อยละ 2% ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี โดยธนาคารออมสินจะปล่อยสินเชื่อให้ SMEs โดยตรงจำนวน 3,000 ล้านบาท และยังมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับ SMEs ขนาดเล็กในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี
2. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ดำเนินโครงการสินเชื่อ Extra Cash วงเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับ SMEs ขนาดย่อม ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3% ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี
3. บสย. ดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 8 วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs ทั่วไป วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย ในอัตราค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี ค้ำประกัน 10 ปี
4. รัฐบาลยังมีโครงการช่วยเหลือ SMEs รายย่อย ผ่านกองทุน สสว. โดยให้สินเชื่อแก่ SMEs ทั่วไป รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง วงเงินต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% ต่อปี ระยะเวลากู้ 7 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ร่วมกับ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ จัดทำเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน-ด้านการเงิน.com และ ธปท. ได้จัดทำเว็บไซต์ www.bot.or.th/covid19 เพื่อรวบรวมมาตรการด้านการเงินของสถาบันการเงินในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลและมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วขึ้น โดยกระทรวงการคลังได้มีติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ตลอดจนแก้ไขปัญหาข้อติดขัดในการดำเนินมาตรการต่างๆ และพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลเศรษฐกิจไทยได้อย่างทันการณ์ต่อไป.