กยศ.รับมือให้กู้ยืม 4 เคสท์รับปีการศึกษา’64
กยศ.แจง! พร้อมให้กู้ยืมครบ 4 ลักษณะ รับปีการศึกษา 64 ยัน! ยอมหั่นดอกเบี้ยให้ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หวังส่งเสริมให้เรียนสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก สาขาวิชาขาดแคลน และให้กู้ยืมในระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตและปริญญาโท สำหรับผู้กู้ที่เรียนดี เดินหน้าพัฒนาระบบกู้ยืมแบบดิจิทัล หวังเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการยื่นกู้ยืมเงิน เพื่อให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษามากขึ้น
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผจก.องทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวถึงกรณี คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เห็นชอบแนวทางการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2564 ทั้ง 4 ลักษณะ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ว่า ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืนกองทุน คุณสมบัติเฉพาะของนักเรียน นักศึกษา อัตราดอกเบี้ย ขอบเขตการให้เงินกู้ยืม ประเภทวิชา สถานศึกษาหรือระดับชั้นการศึกษา และหลักสูตรที่จะให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาทั้ง 4 ลักษณะ ดังนี้
ลักษณะที่ 1 นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เป็นผู้กู้ยืมที่มีรายได้ครอบครัวต่อปีไม่เกิน 360,000 บาท ให้กู้ยืมเงินเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ค่าครองชีพ ในระดับมัธยมปลาย ปวช. ปวท./ปวส. และอนุปริญญา/ปริญญาตรี โดยกำหนดชำระเงินคืนภายใน 15 ปี ระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี ภายหลังสำเร็จการศึกษา อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี
ลักษณะที่ 2 นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
ลักษณะที่ 3 นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลน หรือที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ ให้เงินกู้ยืมเงินเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ระดับปวช. ปวท./ปวส. และอนุปริญญา/ปริญญาตรี โดยกำหนดชำระเงินคืนภายใน 15 ปี ระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี ภายหลังสำเร็จการศึกษา อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี หากเป็นผู้ที่มีรายได้ครอบครัวต่อปีไม่เกิน 360,000 บาท จะสามารถกู้ยืมค่าครองชีพได้และได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0.75% ต่อปี
และ ลักษณะที่ 4 นักเรียนหรือนักศึกษาที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ ให้กู้ยืมเงินเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ระดับประกาศนียบัตรบัณทิตและปริญญาโท เพื่อสร้างความเป็นเลิศด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศไทย ผู้กู้ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีมีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 โดยกำหนดชำระเงินคืนภายใน 10 ปี ระยะเวลาปลอดหนี้ 1 ปี ภายหลังสำเร็จการศึกษา อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี หากเป็นผู้ที่มีรายได้ครอบครัวต่อปีไม่เกิน 360,000 บาท จะสามารถกู้ยืมค่าครองชีพได้และได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0.50% ต่อปี
“กองทุนฯอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบจัดการการให้กู้ยืมแบบดิจิทัล ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ สนับสนุนการดำเนินการให้กู้ยืมทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การยื่นกู้ พิจารณาอนุมัติ การจัดทำสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการพร้อมกับการให้กู้ยืมทั้ง 4 ลักษณะดังกล่าวในปีการศึกษา 2564 สถานศึกษาและผู้กู้ยืมจะได้รับความสะดวกรวดเร็วในการกู้ยืมมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.studentloan.or.th” ผู้จัดการกองทุนฯ ย้ำ.