“EIC” คาด กนง.คงดอกเบี้ยยาวถึงสิ้นปี63

EIC คาด กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่จะมีการผ่อนคลายเพิ่มเติมผ่านเครื่องมือนโยบายด้านอื่น ๆ
· กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี พร้อมทั้งประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้หดตัวลดลงมาอยู่ที่ -7.8% แต่ในระยะต่อไปเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยในปี 2021 จะขยายตัวเพียง 3.6%
· กนง. ประเมินว่าสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูงแต่ยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง และมีความกังวลต่อเงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ กนง. ยังให้ความสำคัญต่อการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ การเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ รวมถึงบทบาทของมาตรการด้านการคลังที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก
· EIC คาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ที่ 0.50% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เนื่องจาก เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดหลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้ง ภาวะการเงินไทยเริ่มผ่อนคลายลงมาบ้าง ทำให้โอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมมีน้อยลง รวมถึงเพื่อรักษาขีดความสามารถของการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ไว้
· การผ่อนคลายนโยบายการเงินในระยะถัดไปคาดว่าจะเน้นไปที่เครื่องมือนโยบายด้านอื่น ๆ มากขึ้น โดยผ่านการใช้งบดุลของ ธปท. และหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายการเงิน
เช่น มาตรการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) โครงการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. และมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ นอกจากนี้ EIC มองว่านโยบายทางการคลังจะมีบทบาทมากขึ้นในระยะต่อไป โดยเป็นนโยบายที่เน้นไปที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตรุนแรง และกลุ่มที่สามารถช่วยเพิ่มการจ้างงานได้มากขึ้น
กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี พร้อมทั้งประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้หดตัว -7.8%
และจะกลับมาขยายตัวที่ 3.6% ในปีหน้า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 23 กันยายน 2020 กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี โดย กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะหดตัวน้อยกว่าที่ประมาณการไว้เดิม แต่ในระยะต่อไปเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ และจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ในการ
กลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของ COVD-19 โดยรายละเอียดมีดังนี้

- เศรษฐกิจไทยปี 2020 มีแนวโน้มหดตัวที่ -7.8% น้อยลงจากประมาณการเดิมเล็กน้อยที่ -8.1% โดย กนง. ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าจะหดตัวลดลงที่ -8.2% (จากเดิมหดตัวที่ -10.3%) และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะอยู่ที่ 6.7 ล้านคน ปรับลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 8 ล้านคน สำหรับอุปสงค์ภายในประเทศ การบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นบ้าง โดยการบริโภคภาคเอกชน
หดตัวลดลงมาอยู่ที่ -3.5% (จากเดิมหดตัวที่ -3.6%) และการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวลดลงอยู่ที่
-11.4% (จากเดิมหดตัวที่ -13%) สำหรับการลงทุนภาครัฐปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากมาอยู่ที่ 8.8% (จากเดิมที่ 5.8%) - อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2020 ติดลบน้อยลงมาอยู่ที่ -0.9% (จากประมาณการเดิมหดตัวที่ -1.7%)
จากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ที่ขยายตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 โดยคาดการณ์ค่าเฉลี่ยราคาน้ํามันดิบดูไบในปี 2020 ถูกปรับเพิ่มขึ้นจาก 35.1 มาอยู่ที่ 41.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานถูกปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันมาอยู่ที่ 0.3% (จากเดิม 0.0%) - ระบบการเงินยังมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์มีระดับ เงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมรับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลงนอกจากนี้ กนง. ให้ความสำคัญต่อการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ และควรเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์
เศรษฐกิจไทยในปี 2021 มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าประมาณการครั้งก่อน แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับมาอยู่ที่ขอบล่างของกรอบเป้าหมายได้ โดย กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2021 จะขยายตัวที่ 3.6% (ปรับลดลงจากประมาณการณ์เดิมที่ 5.0%) โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดมาอยู่ที่ 9 ล้านคน (จากเดิม 16.2 ล้านคน) ซึ่งเป็นผลจากการกลับมาแพร่ระบาดของ COVID-19 ในต่างประเทศ สำหรับอุปสงค์ภายในประเทศก็มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้นเช่นกัน โดย ธปท. ปรับลดการบริโภคภาคเอกชนมาอยู่ที่ 2.0% (จากเดิมที่ 2.5%) ตามตลาดแรงงานที่ยังคงอ่อนแอ การจ้างงานและรายได้ที่ยังคงเปราะบางและจะใช้เวลาฟื้นตัวนาน สำหรับ
การลงทุนภาคเอกชนก็ถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ 4.2% (จากเดิม 5.6%) ส่วนค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2021
มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ขอบล่างของกรอบเป้าหมาย 1.0% (จากประมาณการเดิมที่ 0.9% ) ตามการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

กนง. ประเมินว่าสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูงแต่ยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง และมีความกังวลต่อเงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวในระดับต่ำ ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาล (corpoate spread) เริ่มปรับลดลงบ้างในกลุ่มตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดี ด้านสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัวน้อยลง โดยส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการสินเชื่อของภาครัฐและการเลื่อนกำหนดชำระหนี้ โดย กนง. เห็นว่าสภาพคล่องโดยรวมในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่ต้องเร่งดำเนินการให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น ส่วนค่าเงินบาทเทียบกับทั้งเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ ปรับอ่อนค่าลงนับจากการประชุมครั้งก่อน แต่ กนง. ยังกังวลว่าหากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม
- Implication
EIC คาด กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำที่สุดในประวัติการณ์ที่ 0.50% ในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจาก
- เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด (bottomed out) หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ โดยดัชนีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงมูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมทองคำและอาวุธในเดือนกรกฎาคมหดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน (รูปที่ 1) แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเป็นไปอย่างช้า ๆ สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจหลักล่าสุดเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชะลอลง (stalling economic recovery) เช่น มูลค่าการส่งออกไทย (ไม่รวมทองคำและอาวุธ) ของเดือนสิงหาคมที่ออกมาล่าสุดที่ -14.3% เป็นการหดตัวในอัตราที่เท่ากับเดือนก่อน (แต่น้อยลงจากสองและสามเดือนก่อนหน้า) นอกจากนี้ ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจที่ ธปท. เผยแพร่ออกมาในรอบนี้ใกล้เคียงกับที่ EIC ได้ประเมินไว้ กล่าวคือ ธปท. ประเมิน GDP ปี 2020 หดตัว -7.8% เท่ากับที่ EIC ประเมินไว้ ส่วนในปี 2021 ธปท. ประเมินว่า GDP จะสามารถกลับมาขยายตัวได้ที่ 3.6% ใกล้เคียงกับที่ EIC ประเมินไว้ที่ 3.5% ด้วยมุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไปนี้ จึงทำให้ EIC ประเมินว่าโอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมมีน้อยลง เพื่อรักษาขีดความสามารถของการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ไว้
- ภาวะการเงินไทยเริ่มผ่อนคลายลงมาบ้าง ทำให้ความจำเป็นของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อ
ผ่อนคลายภาวะการเงินเพิ่มเติมมีน้อยลง โดยความผันผวนของตลาดการเงินโลกปรับลดลงจากความกังวล (risk-off sentiment) ของนักลงทุนที่ลดลง ด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับเข้าตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยบ้างหลังจากที่เงินทุนไหลออกไปมากจากทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรในช่วงสองไตรมาสแรก นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินไทยในช่วงที่ผ่านมาก็ปรับลดลงมาตามการลดอัตราดออกเบี้ยนโยบายของ ธปท. (รูปที่ 2) อีกทั้งยังมีมาตรการสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและการสนับสนุน
การปรับโครงสร้างหนี้ - อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตามองภาวะการเงินในด้านการระดมทุนภาคเอกชนที่พบว่า การระดมทุนผ่าน
ทั้งตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้ปรับลดลงมาก โดยตราสารทุนออกใหม่ในช่วง 7 เดือนแรกหดตัวถึง -54%YOY ส่วนตราสารหนี้ออกใหม่ 8 เดือนแรกหดตัวที่ -38.7%YOY โดยเฉพาะตราสารหนี้ออกใหม่ที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า investment grade และไม่มีการจัดอันดับ หดตัวถึง -60%YOY อีกทั้ง อัตราการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจ SMEs ยังคงหดตัวแม้ภาครัฐจะมีนโยบายออกมาสนับสนุนบ้างก็ตาม โดยสิินเชื่อที่ให้้แก่่ธุุรกิิจ SME ขนาดเล็็กมาก (วงเงิินน้อยกว่า 20 ล้้านบาท) นัับตั้งแต่่สิ้นปีี 2019 ถึงไตรมาส 2 ปีนี้หดตััวลง -2.6%YTD

การผ่อนคลายนโยบายการเงินในระยะถัดไปคาดว่าจะเน้นไปที่เครื่องมือนโยบายด้านอื่น ๆ มากขึ้น โดยผ่านการใช้
งบดุลของ ธปท. เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายการเงิน โดยในช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา
นายวิรไท สันติประภพ (ผู้ว่าการปัจจุบันซึ่งจะหมดวาระในเดือนนี้) ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว bloomberg ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ ณ ระดับที่ค่อนข้างต่ำแล้ว การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอาจมีประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจลดลง นอกจากนี้ ตลาดการเงินไม่ได้มีปัญหาด้านการขาดสภาพคล่อง แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการล้มละลายของภาคธุรกิจ ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินที่ตรงจุดและเฉพาะเจาะจง (direct and target) จึงเหมาะสมสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน
โดย EIC มองว่า ธปท. จะเน้นผ่อนคลายนโยบายการเงินผ่านมาตรการที่ใช้งบดุลของ ธปท. และหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ รวมถึงมาตรการด้านอื่น ๆ มากขึ้น เช่น ส่งเสริมการเข้าร่วมมาตรการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ให้แก่ธุรกิจที่ประสบปัญหาโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และมาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ที่ได้มีออกมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 1-2 มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยวิธีการรวมหนี้ (debt consolidation) โครงการ DR BIZ ที่บรรเทาภาระหนี้โดยรวมและลดเวลาติดต่อเจ้าหนี้หลายราย รวมถึงโครงการ
ค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส (Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ) ที่เพิ่งประกาศออกมาล่าสุด
โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสูงสุด 30% และจะค้ำประกันสินเชื่อต่อเนื่องจากโครงการ Soft Loan ของ ธปท. ไปอีกเป็นระยะเวลา 8 ปี เริ่มค้ำประกันตั้งแต่ปีที่ 3 จนถึงปีที่ 10
นอกจากนี้ EIC มองว่านโยบายทางการคลังจะมีบทบาทมากขึ้นในระยะต่อไป โดยเป็นนโยบายที่เน้นไปที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตรุนแรง และกลุ่มที่สามารถช่วยเพิ่มการจ้างงานได้มากขึ้น โดยจากข้อมูลสำรวจภาวะ
การทำงานของประชากร (Labor force survery) ในไตรมาสที่ 2/2020 พบว่าตลาดแรงงานไทยได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ค่อนข้างรุนแรง โดยอัตราการว่างงานปรับสูงขึ้นอย่างมีนัย (จาก 0.98% ณ สิ้นปี 2019 มาที่ 1.95% )
โดยกลุ่มที่มีอัตราการว่างงานสูงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี (โดยมีอัตราการว่างงานสูงถึง 8.6%) นอกจากนี้
ในกลุ่มผู้มีงานทำยังมีชั่วโมงการทำงานลดลงอย่างมีนัยเช่นกัน (จากราว 42.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในปี 2019 มาที่ 38.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในไตรมาส 2 ปีนี้) และยังพบอีกว่าจำนวนลูกจ้างที่ระบุว่ามีงานทำแต่ทำงาน 0 ชั่วโมงและไม่มีรายได้ (furloughed workers) ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก (หากนับรวมแรงงานกลุ่มนี้เข้ากับผู้ว่างงาน อัตราการว่างงานจะสูงถึง 7.4%) ด้วยเหตุนี้ การดำเนินนโยบายทางการคลังที่มุ่งเน้นไปที่ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตรุนแรง รวมถึงส่งเสริมการจ้างงานจึงมีความจำเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจไทยปรับแย่ลงกว่าคาดมากหรือภาวะการเงินไทยปรับตึงตัวขึ้นเร็ว EIC เชื่อว่า ธปท. พร้อมพิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม และอาจปรับการสื่อสารให้ชัดเจนขึ้น (forward guidance) โดยหากเศรษฐกิจไทยปรับแย่ลงกว่าที่ธปท. คาดไว้มากก็อาจทำให้โอกาสในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมมีสูงขึ้น
โดยอาจพิจารณาใช้มาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ เช่น
- การปรับการสื่อสารต่อสาธารณชนให้ชัดเจนขึ้น โดยหนึ่งในเครื่องมือที่ กนง. สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ คือ การพิจารณาใช้ outcome-based forward guidance ดังที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (US Federal Reserve)
ได้นำมาใช้ล่าสุด ซึ่งเป็นการให้แนวทางหรือกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่จะต้องบรรลุเป้าหมายก่อนที่ธนาคารกลางจะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ - การเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (quantitative easing) และการใช้มาตรการ Bond Stabilization Fund (BSF) โดยมาตรการเหล่านี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในช่วงที่ตลาดเกิดความกังวลสูง (panic) หรือในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินไทยปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วงที่เกิดความผันผวนสูงในตลาดการเงินของไทย (มีนาคม-เมษายน 2020) ที่ผ่านมา ธปท. ได้มีจัดตั้ง BSF เพื่อดูและเสถียรภาพในตลาดพันธบัตรเอกชน และมีการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในปริมาณมากมาบ้างแล้ว
- การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม โดย ธปท. ยังเปิดโอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ ซึ่งหากภาวะการเงินปรับตึงตัวขึ้นมากและเศรษฐกิจมีแนวโน้มกลับมาหดตัวมากกว่าที่คาด กนง. ก็ยังสามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก 1 ครั้ง (25 bps) โดยที่อัตราดอกเบี้ยยังไม่ปรับถึง 0% ทั้งนี้ EIC มองว่า
ด้วยสถานการณ์และความเสี่ยงในปัจจุบันนี้ มีโอกาสค่อนข้างน้อยที่จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม - การดำเนินมาตรการ Yield Curve Control (YCC) โดยผู้ว่าการ ธปท. ได้ระบุไว้ว่าในสถาการณ์ปัจจุบัน
ยังไม่มีความจำเป็น แต่หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาวปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลให้ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับชันขึ้นมาก (steepening yield curve) จนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ EIC มองว่า ธปท. ก็อาจพิจารณาใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อดูแลอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลได้