สรรพสามิตสร้างดีมานด์ยาสูบ หนุนเกษตร-สาธารณสุข
อธิบดีกรมสรรพสามิต นำทีมตรวจเยี่ยมโรงผลิตยาเส้น “ตรานกแก้ว” ถึงเมืองเพชรบูรณ์ เผย! พร้อมช่วยเหลือเกษตกรเพาะปลูกยาสูบ หันเปลี่ยนปลูกพืชทดแทน ควบสั่งประสานหน่วยวิชาการ สร้างดีมานด์ใหม่ ทดแทนยอด “สิงห์อมควัน” ลดลง แต่ภาษีพุ่งขึ้น
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต นำ คณะสื่อมวลชนสายเศรษฐกิจประจำกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ย.ที่ผ่าน หนึ่งในภารกิจสำคัญคือการเดินทางศึกษาดูงานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตยาเส้น (สแตมป์) รวมถึง เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตและบรรจุยาเส้นตรานกแก้ว ณ โรงอุตสาหกรรมยาสูบยาเส้น ของ นายสาคร กองแพง ชาวบ้าน ต.น้ำก้อ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์
หลังจากที่ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต ได้มีมาตรการทางภาษีสรรพสามิตเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบและยาเส้น ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกัน
โดยมี มาตรการขยายเวลาการบังคับใช้อัตราภาษีปัจจุบันของบุหรี่ซิกาแรตและยาเส้น ออกไปถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564 และเลื่อนการบังคับใช้อัตราภาษีใหม่ของบุหรี่ซิกาแรตและยาเส้นออกไป โดยให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเยียวยา ฟื้นฟู และอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าว ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
สำหรับ โรงอุตสาหกรรมยาสูบยาเส้น ตรานกแก้ว ถือเป็นโรงงานท้องถิ่นที่รับซื้อใบยาจากชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งมีการทำสัญญาว่าจ้างเกษตรกรเพาะปลูกใบยาเพื่อนำส่งโรงงานฯ (ลูกไร่) รวม 1,800 ราย ในพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ก่อนจะนำมาผลิตและบรรจุเป็นยาเส้นซอง ขายส่งให้กับร้านค้าใน จ.เพชรบูรณ์ ซึ่ง นายสาคร เจ้าของโรงงานฯ ระบุว่า กำไรจากการจำหน่ายยาเส้นยาสูบมีไม่มาก ขณะที่อัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบ ภาษีท้องถิ่นและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ค่อนข้างสูงรวมกันเกือบ 3 บาทต่อซองที่ขนาด 25 กรัม ซึ่งตนขายส่งในราคา 13 บาท ขณะที่ชาวบ้านซื้อปลีกในราคาซองละ 15 บาท โดยแต่ละปีโรงงานของตนได้ดำเนินการภายใต้กฎหมายและข้อบังคับของกรมสรรพสามิตอย่างถูกต้องและเข้มงวด แต่ละปีจะเสียภาษีให้รัฐรวมกันไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท
ด้าน อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ยาสูบถือเป็นพืชไร่ชนิดเดียวที่ไม่ได้ขึ้นกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมและดูแลโดยกรมสรรพสามิต ทั้งนี้ สถานการณ์ผู้สูบยาเส้นที่มีจำนวนลดลง ประกอบกับนโยบายรัฐที่ต้องการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่และยาเส้น ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบและอุตสาหกรรมผลิตยาเส้นยาสูบ แม้รัฐบาลจะขยายเวลาการบังคับใช้อัตราภาษีฯออกไป แต่กรมสรรพสามิตจำเป็นจะต้องเข้ามาช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ หากเกษตรกรฯต้องการเพาะปลูกพืชทดแทน กรมสรรพสามิตพร้อมจะประสานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำองค์ความรู้และการเพาะปลูกพืชอื่นๆ มาให้ แต่เพราะราคาจำหน่ายใบยาให้ผลตอบแทนสูงกว่าพืชเกษตรอื่นๆ ทำให้เกษตรกรฯหลายครอบครัวยังคงยืนยันจะเพาะปลูกใบยาสูง ก็ถือเป็นอีกภารกิจที่กรมสรรพสามิตจะต้องเข้ามาดูแลเป็นการเฉพาะ
“เรากำลังมองว่า นอกจากใบยาสูบ โดยเฉพาะยาเส้น ที่มีการนำไปใช้ในการฆ่าแมลงและกำจัดศัตรูพืชหลายๆ ชนิดแล้ว ยังจะมีประโยชน์ทั้งในด้านการเกษตร สาธารณสุข และอื่นๆ อย่างไรบ้าง จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประสานหน่วยงานวิชาการ เพื่อทำการศึกษา วิจัยและพัฒนา ในการนำยาเส้นไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แม้จำนวนผู้สูบยาเส้นจะลดลง แต่หากความต้องการใช้ยาเส้นเพื่อการอื่นมีเพิ่มสูงขึ้น ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบและอุตสาหกรรรมยาสูบยาเส้นในอนาคต” อธิบดีกรมสรรพสามิตย้ำ.