“สันติ” จี้ สศค.หาเงินกู้เพิ่มให้ บสย.6 หมื่นล.
“สันติ” ไอเดียกระฉูด! สั่ง สศค. ปรับเกณฑ์เพิ่มเงินกู้ให้ บสย.อีก 6 หมื่นล้านบาท หวังนำไปค้ำเงินกู้ซอฟท์โลนของแบงก์ชาติที่นอนกองอยู่ถึง 4 แสนล้านบาท ดึงเงินเข้าสู่ระบบช่วยเอสเอ็มอีรายเล็ก 3.6 แสนล้านบาท ด้าน บสย.จับมือ 18 แบงก์รัฐ-เอกชน ค้ำเงินกู้ 2 โครงการ “Soft Loan พลัส – บสย. SMEs ไทยชนะ”
กลายเป็นเรื่องใหม่ “สุดฮ็อต” ที่เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส ระหว่าง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ 18 ธนาคารพันธมิตร เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 15 ก.ย.2563 ที่กระทรวงการคลัง
เพราะข้อเสนอที่ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง โยนออกมารอบนี้ สะเทือนเลื่อนลั่นวงการการเงินและธนาคารพาณิชย์ กระทบไปถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ข้อเสนอที่ว่า…คือ การที่ นายสันติ ในฐานะ “รักษาการ รมว.คลัง” ขอให้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปดูช่องทางปรับเพิ่มวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมให้กับ บสย.อีก 6 หมื่นล้านบาท หากสิ่งนี้…ไม่กระทบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หมายถึงกรอบวงเงินกู้ใหม่ของหน่วยงานรัฐ ยังไม่แตะหรือเกินกรอบวงเงินกู้ร้อยละ 60 ของจีดีพี
ต้นเรื่องมาจากปมปัญหา เงินกู้ซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาท ในมือ ธปท. ที่ปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์ เพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อให้กับภาคธุรกิจ แต่เอาเข้าจริง! ธนาคารพาณิชย์ปล่อยได้เพียง 1 แสนล้านบาท เหลือที่นอนกองอยู่กับ ธปท.ถึง 4 แสนล้านบาท โดยไม่ตอบโจทย์รัฐบาลและกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด
แม้ บสย.มีภารกินสำคัญในการเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ให้กับภาคธุรกิจ แต่ที่ผ่านมาทำได้เพียงการค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 2 แสนล้านบาท และล่าสุด กับวงเงินที่ทำตามกรอบ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส และโครงการ “บสย. SMEs ไทยชนะ” ก็ครอบคลุมวงเงินสินเชื่อได้เพียง 5.7 หมื่นล้านบาท และ 2 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ แต่ไม่สามารถตอบโจทย์กับเงิน 4 แสนล้านบาท ที่นอนกองอยู่ใน ธปท.แต่อย่างใด
นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญทำให้ นายสันติ เสนอให้ สศค.ปรับระเบียบและกติกาใหม่ โดยเสนอให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับ บสย. 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้ บสย.สามารถนำไปค้ำประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้มากถึง 6 เท่า หรือราว 3.6 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับตัวเลข 4 แสนล้านบาทของธปท.
“ผมสั่งการให้ สศค.ไปดู พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะปล่อยเงินกู้ให้กับ บสย. เพื่อนำไปค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan ของ ธปท. โดยไม่กระทบวินัยการเงินการคลังได้หรือไม่? เบื้องต้นเห็นว่ามีเงินที่เหลือจากโครงการเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของมาตรการเยียวยา จำนวน 3 หมื่นล้านบาทแล้ว” นายสันติ ระบุและว่า
หาก บสย.สามารถขอกู้เงินเพิ่มได้ จะช่วยให้ภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะ SMEs ขนาดเล็กและรายย่อย รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งเพื่อเสริมสภาพคล่อง หรือลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ได้ อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ กรอบวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท จะถูกนำมาใช้จริงต่อเมื่อภาคธุรกิจนั้นๆ ประสบปัญหาไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ จนกลายเป็นเอ็นพีแอลเท่านั้น แต่ไม่ได้กู้เพื่อเอาเงินมากองไว้กับ บสย.จริงๆ
ก่อนหน้านี้ นายสันติ ทำหน้าที่ประธานในพิธีฯข้างต้น และย้ำว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ SMEs นำไปสู่การหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจกลุ่มฐานราก ผ่านกลไกค้ำประกันสินเชื่อ บสย. ที่ครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มคนตัวเล็ก ผู้ประกอบการอาชีพอิสระ และคนตกงาน มั่นใจเสริมสร้างบรรยากาศการปล่อยสินเชื่อ SMEs ให้คึกคัก เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ กระตุ้นเศรษฐกิจตลอดไตรมาส 3-4 เกิดสินเชื่อหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 57,000 ล้านบาท
ด้าน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน กล่าวว่า โครงการนี้ มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อตลาดแรงงาน ทั้งช่วยลดปัญหาการว่างงาน และอุ้มการจ้างงานกว่า 360,000 ตำแหน่ง โดยคาดว่าจะนำไปสู่การขยายผลต่อเนื่องจากการดำเนิน โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส สู่การบูรณาการความร่วมมือด้านการสร้างงานสร้างอาชีพ ระหว่าง กระทรวงแรงงาน กับ บสย. และยกระดับการสร้างอาชีพ กับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ผ่านการฝึกอบรมจากกระทรวงแรงงาน สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในโอกาสต่อไป
ขณะที่ นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กก.และผจก.ทั่วไป บสย. กล่าวว่า บสย. และ 18 ธนาคารพันธมิตร ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ตามมาตรการ “บสย. SMEs ต้องชนะ”และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส ที่ได้รับอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2563 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ตาม พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิดฯ โดย ธปท.
ทั้งนี้ บสย. สามารถรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ สามารถเข้าถึงสินเชื่อ 34,000 ราย โดยโครงการนี้จะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจ ไม่ต่ำกว่า 57,000 ล้านบาท ช่วยลดปัญหาการว่างงาน มั่นใจรักษาการจ้างงานได้กว่า 360,000 ตำแหน่ง โดย บสย. จะค้ำประกันสินเชื่อต่อเนื่องจากโครงการ Soft Loan ของ ธปท.ไปอีกเป็นระยะเวลา 8 ปี เริ่มค้ำประกันตั้งแต่ปีที่ 3 จนถึงปีที่ 10
นอกจากนี้ บสย. ยังได้เตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันการเงินใน โครงการค้ำประกันสินเชื่อ “บสย. SMEs ไทยชนะ” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยมีวงเงิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อเพื่อธุรกิจทุกประเภท ค้ำประกันสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาค้ำประกันสุดสุด 10 ปี
จุดเด่นของ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ “บสย. SMEs ไทยชนะ” คือ สามารถปรับได้ตามค่าความเสี่ยงและลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่ม SMEs คาดว่าจะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 45,000 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ได้กว่า 12,000 ราย และอุ้มการจ้างงานเพิ่มอีก 420,000 ตำแหน่ง.