กม.สลากฯ “ต้นตอหวยแพง” ไหงแก้ที่ปลายเหตุ?
3 ข้อเสนอหลัก “เพิ่มหวย – จัดสรรโควตาใหม่ – สร้างผลิตภัณฑ์และช่องทางขายใหม่” กรอบความคิดที่ สนง.สลากกินแบ่งรัฐบาล ต้องนำไปสรุปแนวทางแก้ปัญหาหวยแพง ก่อนเสนอบอร์ดใหญ่ 23 ก.ย.นี้ เผย! ต้อตอตัวจริง ทำหวยแพง คือ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯ เหตุจัดสรรผ่านตัวแทนและไม่รับซื้อคืน เป็นเหตุให้มีการซื้อขายช่วง สร้างหวยชุด เพิ่มราคา
ข้อเสนอระหว่างวงเสวนาครั้งประวัติศาสตร์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หัวข้อ “การปรับโครงสร้างการกระจายสลาก รวมถึงการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคา” ซึ่งมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ
ทั้ง…นักวิชาการ เอ็นจีโอ ตัวแทนผู้ค้ารายย่อย คนพิการ คนตาบอด และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม รวมถึงสื่อมวลชน เข้าร่วมแสดงความเห็นและเสนอแนะแนวทางตามหัวข้อข้างต้น ณ ห้องอเนกประสงค์ 3 อาคารออกรางวัล สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จ.นนทบุรี เมื่อช่วงสายวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา
แม้ นายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกบอร์ดบอร์ดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และ พ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จะสรุปมูลเหตุอันเป็นข้อเสนอดังกล่าวตรงกัน กล่าวคือ…
1.เพิ่มจำนวนสลากฯจากเดิม 100 ล้านฉบับ เป็น 200-400 ล้านฉบับ หลังพบความต้องการสลากฯมีมาก ขณะที่ผู้ค้าหน้าใหม่เพิ่มขึ้นจาก 2 แสนราย เป็น 3 ราย หลังเกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย
2.จัดสรรโควตาใหม่ ตัดทิ้งโควตาที่นำสลากไปขายช่วง แล้วเพิ่มสัดส่วนให้กับผู้ค้าสลากฯที่แท้จริง
3.สร้างผลิตภัณฑ์และช่องทางใหม่ๆ ให้ถึงมือประชาชนโดยตรง
ทว่าข้อเท็จจริงที่ลึกกว่านั้น ซึ่งทั้ง นายธนวรรธน์ และพ.ต.อ.บุญส่ง ต่างก็ยอมรับ แต่ไม่มีการพูดถึงในวงเสวนา ก็คือ ปัญหาอันเป็นต้นตอสำคัญที่สำคัญให้มีการขายสลากเกินราคา นั่นคือ…
ตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่าง…พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 ที่ต่อมา มีการปรับปรุงแก้ไขในปี 2562 ทว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ยังคงเดิม โดย เฉพาะหมวด 3 “การเงิน การบัญชี และการตรวจสอบ” มาตรา 22 ระบุว่า…
“ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลในแต่ละงวด จัดสรรเป็นเงินรางวัลร้อยละ 60 จัดส่งเป็นรายได้แผ่นดินไม่น้อยกว่าร้อยละ 27 และไม่เกินร้อยละ 13 จัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน และค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายสลากฯ รวมถึงบริจาคเพื่อกิจกรรมการกุศล”
โฆษกบอร์ดบอร์ดสำนักงานสลากฯ ยอมรับว่า สิ่งนี้…คือ เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สำนักงานสลากฯจำต้องเดินไปตามกรอบข้อกฎหมาย เนื่องจากมาตร 22 ระบุชัดถึงสัดส่วนของการจัดสรรรายได้ ทำให้จำเป็นจะต้องขายสลากฯให้หมด โดยไม่มีการรับซื้อสลากฯคืน
และ มาตรา 33 ระบุว่า “การจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะจำหน่ายเอง หรือแต่งตั้งบุคคลอื่น จะเป็นคนเดียว หรือหลายคน เป็นตัวแทนจำหน่ายทั้งหมด หรือบางส่วนก็ได้”
อย่างหลัก…นำไปสู่การจัดสรรสลากฯใหม่ จากเดิมที่เคยใช้บริการของ “5 เสือกองสลากฯ” มาเป็นการจัดสรรผ่านระบบตัวแทนจำหน่าย 37 ล้านฉบับ และอีก 67 ล้านฉบับ จัดสรรผ่านระบบซื้อ-จองล่วงหน้า กับธนาคารกรุงไทย
โดย ระบบตัวแทนจำหน่ายครอบคลุมกลุ่มผู้จำหน่าย…สมาคม/องค์กร/มูลนิธิ, บุคคลทั่วไป รายย่อย รวมถึงกลุ่มคนพิกากและด้อยโอกาสทางสังคม ขณะที่ จัดสรรผ่านระบบซื้อ-จองล่วงหน้า จะครอบคลุมผู้ลงทะเบียนรายย่อยเกือบ 1.6 แสนราย ซึ่งกลุ่มนี้ ถูกเรียกว่าเป็น “ผู้ค้าในระบบ”ต่างจาก “ผู้ค้านอกระบบ” เพราะไม่ได้ลงทะเบียน หรือลงทะเบียนแต่ไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณ โดยมีอีกเกือบเท่าตัวในปัจจุบัน
ประเด็นปัญหาที่มีการร้องเรียน กระทั่ง กลายเป็นหนึ่งในข้อเสนอสำคัญ ก็คือ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะต้องจัดสรรโควตาใหม่
เนื่องจาก กลุ่มที่ได้รับจัดสรรโควต้า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด แม้กระทั่ง จาก ระบบซื้อ-จองล่วงหน้าทั้งหมดถูกเย้ายวนจากข้อเสนอซื้อจาก “คนกลาง” ซึ่งก็ล้วนเป็นคนหน้าเดิมในกลุ่ม “5 เสือกองสลากฯ” ที่เสนอราคาตั้งแต่ฉบับละ 80 บาทขึ้นไปจนถึง 90 บาท ทั้งนี้ เพื่อนำสลากฯที่ได้ไปคละและรวมเลขชุดกันใหม่ ตั้งแต่ 5 ใบ 10 ใบ 12 ใบ 15 ใบ 20 ใบ หรือมากกว่านั้นได้
ยุคสมัยนี้…จึงมี “เลขชุด” วางจำหน่ายมากที่สุด และมีราคาแพง เฉลี่ยต่อฉบับ ตั้งแต่ 100-150 บาท จะเลือกกี่ใบก็เอาจำนวนใบไ ปคูณกับตัวเลข 100-150 บาท
นอกจากนี้ ยังประเด็นที่มีกลุ่มข้าราชการประจำ ได้รับจัดสรรโควตา ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและไม่ควรจะได้รับจัดสรรสลากฯ เรื่องนี้…จึงเป็นอีกประเด็นที่บอร์ดสำนักงานสลากฯจะเร่งเข้าไปดูและแก้ไข
อย่างไรก็ตาม โฆษกบอร์ดบอร์ดสำนักงานสลากฯ ยืนยันว่า ทุกข้อเสนอจากวงเสวนาฯ จะถูกรวบรวมและนำไปประมวลผล เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมกลุ่มย่อย เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการแก้ไข ก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดฯชุดใหญ่ในวันที่ 23 ก.ย.ที่จะถึงนี้ ซึ่งคาดว่า น่าจะได้เห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการขยายสลากฯเกินราคา
ทั้งนี้ แม้วงเสวนาฯไม่มีการเสนอเรื่อง หวยออนไลน์ แต่ก็มีการพูดถึง การสร้างผลิตภัณฑ์และทางเลือกใหม่ ซึ่งสอดรับกับแนวคิดของบอร์ดสำนักงานสลากฯ เพียงแต่สถานการณ์นี้ จำเป็นจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาการสลากฯเกินราคาเป็นลำดับแรกก่อน ส่วนการออกผลิตภัณฑ์และทางเลือกใหม่ จะพิจารณาอีกครั้งในช่วงต้นปี 2564
“กฎหมายระบุชัดว่า เราจะต้องให้ความสำคัญกับการจัดหารายได้แผ่นดิน ดูแลประชาชนไม่ให้ซื้อสลากฯเกินราคาที่สำคัญ และดูแลกลุ่มคนพิการให้มีอาชีพและมีรายได้ แต่ที่กฎหมายไม่ได้กำหนด ซึ่งเราดูแลมาตลอดระยะเวลา 80 ปี ก็คือ ดูแลผลประโยชน์ของ ผู้ค้าสลากฯรายย่อย ซึ่งทั้งหมดจะเป็นกรอบในการทำงานและวางแผนของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต่อไป” นายธนวรรธน์ ย้ำ.