ศูนย์วิจัยฯ ธ.ก.ส.คาด “ข้าว-หมู” นำพาเหรดแพง
ศูนย์วิจัยฯ ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร ก.ย.63 ชี้ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง และสุกร มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ขณะที่ ข้าวเปลือกเหนียว น้ำตาลทรายดิบ ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวคาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือน ก.ย.2563 ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. จัดทำไว้ โดย สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 9,336-9,595 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.16-3.97 เนื่องจากขาดแคลนข้าวระดับคุณภาพ 5% ในตลาดโลก จากการที่ประเทศจีนประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรง ขณะที่ประเทศอินเดียประสบปัญหาน้ำท่วมและการระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงที่สุดในทวีปเอเชีย ทำให้เกิดปัญหาการขนส่งข้าวเพื่อส่งออก อีกทั้งประเทศเวียดนามก็ประสบปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 จึงเกิดการกักตุนข้าวในประเทศ
ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 14,531-14,636 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.32-1.05 เนื่องจากความกังวลผลผลิตข้าวในฤดูถัดไปอาจลดลงจากภาวะฝนตกหนักในแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะสูงขึ้นกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.59-7.63 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.00-1.50 เนื่องจากมีฝนตกชุกต่อเนื่อง เกษตรกรจึงชะลอการเก็บเกี่ยว ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ประกอบกับมาตรการรัฐที่ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/64 อาทิ การบริหารจัดการการนำเข้าและการดูแลความเป็นธรรมในการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะมีส่วนสำคัญในการรักษาระดับราคาให้สูงขึ้น
ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 41.50 – 42.25 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.36 – 2.18 เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราภายในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการภาครัฐ ประกอบกับเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจึงส่งผลดีต่อความต้องการใช้ยางพารา อีกทั้งคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดลดลงจากภาวะฝนตกชุกซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยางพารา
มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.73-1.78 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.58 – 3.49 เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาลผลิต และผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการลานมันเส้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูมรสุมที่มีฝนตกชุกและบางพื้นที่การผลิตประสบปัญหาอุทกภัย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพแป้งในหัวมันสด อาจทำให้ราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ปรับลดลง
และ สุกร ราคาอยู่ที่ 78.08–79.26 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.64–2.17 เนื่องจากประเทศที่บริโภคสุกรรายใหญ่ของโลกประสบปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร อาทิ ประเทศจีนและประเทศเวียดนาม จึงมีคำสั่งซื้อเพื่อนำเข้าสุกรจากไทยเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 15,376-15,377 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.38-0.40 เนื่องจากผู้ประกอบการระบายผลผลิต ข้าวเหนียวในสต็อกคงค้างของปีก่อนออกสู่ตลาดเพื่อรองรับผลผลิตฤดูกาลใหม่
น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 12.70-12.77 เซนต์/ปอนด์ (8.80-8.85 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50-1.00 เนื่องจากคาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลทางภาคกลาง-ใต้ของประเทศบราซิล ในปี 2563/64 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.26 และโรงงานน้ำตาลของประเทศบราซิลจะนำอ้อยไปผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 46.4 จากร้อยละ 34.9 จากราคาและความต้องการเอทานอลที่ลดลงประกอบกับกลุ่มกองทุนเก็งกำไร มีโอกาสที่จะขายตั๋วซื้อน้ำตาล หากภาวะน้ำตาลในตลาดโลกยังมีน้ำตาลส่วนเกินอยู่มาก
ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 3.35-3.45 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 3.09 – 5.90 เนื่องจากสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงมาตรการระบายสต็อกน้ำมันปาล์มเพื่อผลิตเป็นไฟฟ้าของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้ชะลอโครงการออกไป เป็นปัจจัยกดดันราคารับซื้อผลปาล์มสดจากเกษตรกรให้ปรับตัวลดลง
และ กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 139.00–140.00 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.71–1.42 เนื่องจากสถานการณ์ราคากุ้งในตลาดโลกลดลง เป็นปัจจัยกดดันให้ราคากุ้งในประเทศลดลงด้วย โดยคาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 20,000 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศ ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การประกาศวันหยุดชดเชยสงกรานต์ในช่วงต้นเดือน ก.ย. จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคากุ้งปรับเพิ่มขึ้นได้.