คปภ.เพื่อชุมชน เอื้อ “คนไทย-อุตฯประกันภัย”
เลขาธิการ คปภ.นำคณะ “ผู้นำอุตสาหกรรมประกันภัย” ลงพื้นที่ ร่วมงาน “คปภ. เพื่อชุมชน” ประจำปี 2563 จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ณ วิสาหกิจชุมชนบ้านปลายบาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เผย! ทุกเสียงเชื่อก่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะชาวบ้านในชนบท ยืนยันพร้อมเข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้งที่จะมีขึ้นในอนาคต
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) พร้อมคณะผู้บริหารของทั้ง คปภ.และสมาคมด้านประกันภัย ประกอบด้วย นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย นายกสมาคมประกันชีวิตไทย นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย นายกสมาคมการค้าผู้สำรวจภัยไทย และดารานักแสดงชั้นนำ ลงพื้นที่ในโครงการ “คปภ. เพื่อชุมชน” ประจำปี 2563 ณ วิสาหกิจชุมชนบ้านปลายบาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เมื่อช่วงสายวันที่ 18 ส.ค. 2563
เลขาธิการ คปภ. ระบุว่า การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นปีที่ 4 ที่ สำนักงาน คปภ.ได้จัดมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยและสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ประชาชนในชุมชนต่างๆ ของประเทศ นับเป็นการสร้างความตระหนักให้ประชาชนรู้ถึงคุณค่าและประโยชน์ของการประกันภัย อีกทั้งยังสามารถใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สิน ให้กับตนเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม อันส่งผลถึงสังคมไทยเกิดความมั่นคง และเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ ด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการประกันข้าวนาปี ประกันข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกันลำไย รวมถึงประกันอื่นๆ ไม่เพียงเป็นที่รู้จัก หากยังช่วยลดความเสี่ยงในมิติต่างๆ ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวในทิศทางเดียวกับผู้บริหารคนอื่นๆ ว่า สมาคมฯพร้อมจะเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวเนื่องจากเล็งเห็นประโยชน์ของการจัดโครงการ “คปภ. เพื่อชุมชน” โดยการที่ เลขาธิการ คปภ. นำตัวแทนอุตสาหกรรมประกันภัยลงพื้นที่ ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบประกันภัย ในระยะยาวจะสร้างผลลัพธ์ที่ก่อประโยชน์อย่างมหาศาล ส่วนตัวอยากให้ สำนักงาน คปภ. จัดกิจกรรมในลักษณะเช่นนี้ต่อไป
ขณะที่ นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ระบุว่า กิจกรรมดังกล่าวทำให้ระบบประกันภัยกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวของประชาชน ขณะเดียวกัน บริษัทประกันภัยเอง ก็พยายามออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ มารองรับความต้องการของประชาชน ในส่วนของสมาคมฯเอง พยายามสื่อสารกับบริษัทสมาชิกทั้ง 23 แห่ง เพื่อสร้างความเข้าใจด้านระบบการประกับภัยไปสู่ประชาชน เพื่อสร้างระบบความคุ้มครองชีวิต รวมถึงเป็นทางเลือกในการออมเงิน การลงทุน และดูแลสุขภาพ
ส่วน นางบงกช บวรฤกษ์ นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน เสริมว่า สมาชิกของสมาคมฯกว่า 2 แสนคน ต้องขอขอบคุณ คปภ.ที่จัดกิจกรรมในลักษณะนี้ เพราะไม่เพียงสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมการประกันภัย หากยังช่วยให้สมาชิกฯได้มีอาชีพ มีรายได้ อย่างไรก็ตาม สมาชิกฯเองจำเป็นจะต้องยกระดับและพัฒนาตัวเองให้ทันกับยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้ สมาคมฯไม่เห็นด้วยหากสมาชิกฯจะเสนอให้ผู้เอาประกันฯ ยกเลิกประกันภัยเดิม เพื่อเปลี่ยนมาซื้อประกันภัยใหม่ ยืนยันว่ากรมธรรม์เดิมนั้นดีที่สุดแล้ว พร้อมกับยืนยันว่า ไม่ว่าสำนักงาน คปภ.จะไปจัดกิจกรรม “คปภ. เพื่อชุมชน” ที่ใด ตนพร้อมด้วยสมาคมฯ จะเดินทางไปร่วมด้วยทุกครั้ง
ด้าน นายชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์ นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย ระบุว่า การจัดโครงการ “คปภ. เพื่อชุมชน” ด้วยการลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ ทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยสามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อประชาชนและอุตสาหกรรมประกันภัย ในส่วนของสมาคมฯเอง พร้อมจะปรับตัวและเตรียมตัว รวมถึงให้ความรู้ด้านการประกันภัยกับทั้งสมาชิกและประชาชน ทั้งนี้ ยืนยันว่า สมาคมฯพร้อมจะเข้าร่วมและเดินทางไปกับ สำนักงาน คปภ.ในกิจกรรมดีๆ เช่นนี้ต่อไป
นายนิคม จันคง นายกสมาคมการค้าผู้สำรวจภัยไทย ย้ำว่า หากเลขาธิการ คปภ. ไม่ออกหนังสือในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสคิด-19 จนทำให้สมาชิกฯสามารถเดินทางไปแก้ไขปัญหา (เคลม) กรณีเกิดอุบัติเหตุในช่วงเวลาเคอร์ฟิวล่ะ จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาและทำลายความรู้สึกของผู้เอาประกันอย่างมาก จึงต้องขอขอบคุณทาง คปภ.ที่ได้ทำทุกวิถีทางช่วยให้ทั้งคนในอุตสาหกรรมประกันภัยและประชาชนผู้เอาประกัน ได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะการออก แอปพลิเคชั่น “มีเคลม” ถือว่าช่วยการทำงานของสมาชิกสมาคมฯในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนผู้เอาประกันได้เป็นอย่างดี และยืนยันว่า สมาคมการค้าผู้สำรวจภัยไทยพร้อมเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ “คปภ. เพื่อชุมชน” ในทุกที่ที่มี
สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ สำนักงาน คปภ.ได้เชิญชวนตัวแทนชุมชนจากภูมิภาคต่างๆ มาออกร้านขายสินค้าของชุมชน ทำให้เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับสมาชิกชุมได้เป็นอย่างดี สำหรับกิจกรรมที่เกิดขึ้น ในพื้นที่ วิสาหกิจชุมชนบ้านปลายบาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี มีตัวแทนจากภูมิภาคต่างๆ เข้าร่วมออกร้านในครั้งนี้ ประกอบด้วย ชุมชน นาอ้อ ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย, ชุมชนบ้านแหลมมะขาม ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด, ชุมชนบ้านคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช, ชุมชนบ้านปากห้า ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย และชุมชนบ้านวังกะ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี.