บสย.เร่ง PGS9 เพิ่มค้ำกู้ – ลดปมหนี้เสีย SMEs
“บอร์ด บสย.” ขยับตัวไว นัดคุยหลังทราบมติ ครม.ทันที! อัดเพิ่มโครงการค้ำประกันสินเชื่อใหม่ ในบทบาท “นายธนาคารข้างถนน” ตั้งเป้าปล่อยค้ำเงินกู้รวม 9.55 หมื่นล้านบาท สร้างสินเชื่อในระบบ 1-2 แสนล้านบาท คาด ต.ค.นี้ ได้เห็น PGS9 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เชื่อช่วยลดปมหนี้เน่าได้มาก เผยผลงาน 7 เดือนแรก ทะลุเป้า! สร้างยอดค้ำฯไปแล้วกว่า 1.15 แสนล้านบาท
“บอร์ด บสย.” หรือ คณะกรรมการบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ภายใต้การนำของ นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานกรรมการฯ ทำงานกันไวมาก! เพียงอึดใจเดียวหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอใน 3 โครงการ เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตาม พ.ร.ก. Soft Loan แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft loan เริ่มค้ำประกันและเก็บค่าธรรมเนียมในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อ ค้ำประกันสูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท
2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 8 หรือ “บสย. SMEs ชีวิตใหม่” วงเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป วงเงินไม่เกิน 20 ล้านต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ในอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี และ 3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งมติ ครม.อนุมัติขยายเวลา จากเดิมสิ้นสุด วันที่ 23 ก.ค. 2563 เป็น สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 2,500 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 – 2 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี
บ่ายวันเดียวกัน พวกเขาก็เรียกประชุมเพื่อขานรับและขับเคลื่อนทันที!
ล่าสุด สายวันรุ่งขึ้น (19 ส.ค.) เป็น นายบรรยง ที่นำทีมผู้บริหาร บสย. แถลงว่า ภาพรวมตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา บสย.สามารถดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อได้มากกว่า 1.1 แสนล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs กว่า 1 แสนราย ถือว่าทะลุเป้าเกินความคาดหมายนอกจากโครงการตามที่ ครม.มีมติเห็นชอบฯ ซึ่งบางส่วนเป็นการขยายผลในโครงการเดิม และบางส่วนเป็นโครงการใหม่ บสย.มีโครงการเพิ่มเติมเสริมเข้าไปอีก ทั้งนี้ เพราะต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs คนตัวเล็ก และประชาชนทั่วไป ได้เข้าถึงแหล่งเงิน นอกจากนี้ บสย.ยังมีแผนจะนำ PGS ระยะที่ 9 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท มาใช้การแผนงานค้ำประกันสินเชื่อในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งนั่นจะยิ่งเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและมากยิ่งขึ้น
ด้าน นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กก.และผจก.ทั่วไป บสย. เสริมว่า บสย. โครงการใหม่ที่ บสย.จะนำไปช่วยผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มติมที่ ครม.มีมติเห็นชอบอีก 4 โครงการ ประกอบด้วย…1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs พลิกฟื้นท่องเที่ยว วงเงิน 3,700 ล้านบาท ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 1,300 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs 1,400 ราย, 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Start-up & Innobiz วงเงิน 8,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 3,500 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs 2,400 ราย, 3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ไทยชนะ โครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้ 12,000 ราย และ 4.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. เพิ่มพูน (Direct Guarantee : DG) วงเงิน 1,200 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการSMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ช่วยผู้ประกอบการ SMEs 240 ราย
ทั้งหมดตอกย้ำบทบาทความเป็น “นายธนาคารข้างถนน” สะท้อนภาพความเป็น “เพื่อนแท้” ของ SMEs และคนตัวเล็กที่เข้าถึงง่าย ไร้ข้อจำกัด พร้อมยืนเคียงข้างกลุ่มอาชีพอิสระ และผู้ประกอบการทุกขนาด ให้ผ่านวิกฤตไปด้วยกัน ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจและปัจจัยลบรอบด้านจากสถานการณ์ COVID-19
สำหรับผลการดำเนินงานช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.2563) ที่ผ่านมา พบว่า สามารถค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ โดยมียอดวงเงินอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 115,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 167 มีการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) 132,434 ฉบับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 223 และช่วยลูกค้าใหม่ได้รับสินเชื่อ 98,221 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 222 ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 ตามโครงการย่อย ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างไทย โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ดีแน่นอน และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย.SMEs บัญชีเดียว
นอกจากนี้ ในช่วงระหว่าง เดือน มี.ค. – 17 ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 บสย. ยังช่วยผู้ประกอบการ SMEs ค้ำประกันสินเชื่อ 117,508 ราย โดยจำแนกลูกค้าตามโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการ บสย. SMEs สร้างไทย วงเงิน 49,869 ล้านบาท 21,004 ราย และโครงการทั่วไปภายใต้ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 8 อีก 35,694 ล้านบาท 13,143 ราย โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ไทยชนะ ซึ่งเป็นโครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง 2,601 ล้านบาท 406 ราย และโครงการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่มอาชีพอิสระ ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อไมโคร 3 วงเงิน 6,547 ล้านบาท อีก 82,955 ราย
นายรักษ์ ย้ำด้วยว่า บสย.ยังเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ โดยเปิดบริการให้คำปรึกษาทางการเงินครบวงจร ทั้งการขอสินเชื่อ การปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้ชื่อ “ศูนย์ที่ปรึกษาด้านการเงิน SMEs” (F.A. Center) ต่อยอดความสำเร็จและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการช่วง ก.ย.ที่จะถึงนี้ ด้วยการสร้างสรรรค์ ผลักดันโครงการต่างๆเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อ โดยใช้กลไกการ “ค้ำประกันสินเชื่อ” ผ่านมาตรการของรัฐ และโครงการของ บสย.
ทั้งนี้ ตนมั่นใจว่าการดำเนินงานทั้งหมดนี้ จะช่วยผลักดันให้ ผู้ประกอบการ SMEs ก้าวผ่านวิกฤต ไปได้ ด้วยบทบาทของการเป็น “นายธนาคารข้างถนน” ที่มาพร้อมกับภารกิจผลักดันให้ SMEs ต้องชนะ! จะช่วยฟื้นวิกฤต SMEs ท่ามกลางสภาพปัญหาของผู้ประกอบการSMEs ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ที่คาดว่าจะสามารถอนุมัติยอดค้ำประกันสินเชื่อได้มากกว่า 1.5 แสนล้านบาท และช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้มากกว่า 120,000 ราย ที่สำคัญ การค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. โดยเฉพาะจากโครงการที่เพิ่มผ่านความเห็นชอบของ ครม.และของใหม่ที่กำลังจะดำเนินการ รวมถึงเม็ดเงิน 1.5 แสนล้านบาทตาม แผน PGS9 หรือที่จะเรียกต่อไปว่า “โครงการค้ำประกันสินเชื้อไทยชนะ” จะช่วยลดปัญหาทั้งในกลุ่มหนี้เสีย (NPL) หรือสีแดง และ กลุ่มที่ใกล้จะเป็นหนี้เสีย หรือสีเหลือง ที่ปัจจุบัน 2 สีมีรวมกันมากกว่า 1 ล้านล้านบาท
แยกเป็นการช่วยลดหนี้เสียใน กลุ่มสีแดง ลงเหลือร้อยละ 5.6 หรือราว 4,000 ล้านบาท และ กลุ่มสีเหลือง ลงเหลือร้อยละ 11.4 หรือ 8 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มโอกาส กลุ่มสีเขียว ที่ยังคงดำเนินงานได้ตามปกติ และมีวงเงินสินเชื่อรวมมากกว่า 5 ล้านล้านบาท โดยช่วยโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินได้เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 83 หรือราว 2 แสนล้านบาท ทั้งนี้ จากมาตรการของ บสย. คาดว่าจะช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs รวมกันมากถึง 9.55 หมื่นล้านบาท ก่อให้เกิดสินเชื่อเพิ่มในระบบราว 1-2 แสนล้านบาทต่อปี
“ทั้งนี้ คาดว่า PGS9 จะสามารถนำมาใช้ได้ในช่วงเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้ เนื่องจากมาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐจะสิ้นสุดลงในช่วงดังกล่าว จำเป็นจะต้องได้รับเงินก้อนใหม่ 1.5 แสนล้านบาท รวมกับแผนงานอื่นๆ เพื่อมาสานต่อการค้ำประกันสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และคนตัวเล็กต่อไป” กก.และผจก.ทั่วไป บสย. ย้ำ และว่า แม้ตัวเลขผู้ประกอบการ SMEs จะมีเพียง 3 ล้านรายเศษ แต่ของจริงนั้น หากนับรวมกับผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนฯ ทั้งระบบจะมีมากถึงกว่า 6 ล้านราย จำเป็นที่จะต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากมีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น ที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนของสินเชื่อรวมในกลุ่ม SMEsที่มีมากถึง 6.1 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ คนไทยจำเป็นจะต้องมีอาชีพเสริมเป็นอาชีพที่ 2 เพื่อความมั่นคงในการดำรงชีวิตซึ่ง บสย.พร้อมจะเข้ามาช่วยเหลือผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มชีวิตใหม่ (กลุ่มอาชีพอิสระ) ด้วยจะประสานกลุ่มธุรกิจเฟรนไชส์ ทั้งในและนอกเครือข่ายของ บสย. เพื่อนำมาเป็นทางเลือกในการสร้างอาชีพที่ 2 ต่อไป.