“ธนารักษ์-บจธ.” ร่วมแก้เหลื่อมล้ำให้เกษตรกร
ธนารักษ์ ดึงสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน มาร่วมจัดสรรที่ราชพัสดุ กลุ่ม “รกร้างว่างเปล่า” นำไปให้เกษตรกรเช่าช่วงเพาะปลูก ด้าน บจธ.จัดเตรียมงบ 1.4 พันล้านบาท ซื้อขาดที่ดินเอกชนและเช่าที่ราชพัสดุ ก่อนนำไป “เช่าซื้อ-เช่าช่วง” ในราคาเหมาะสม อัตราดอกเบี้ยต่ำ หวังเพิ่มพื้นที่ผลิตอาหาร ตั้งเป้าลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย
นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ และนายกุลพัชร ภูมิใจอวด รอง ผอ. สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ปฏิบัติหน้าที่แทน ผอ.จบธ. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ การบูรณาการข้อมูลด้านที่ดิน ระหว่าง 2 หน่วยงาน ณ ห้องประชุม 801 อาคารกรมธนารักษ์ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 18 ส.ค. 2563
นายยุทธนา กล่าวว่า การได้ บจธ.มาร่วมทำงานถือเป็นเรื่องดี เพราะภารกิจของกรมธนารักษ์มีมากมาย และไม่เฉพาะเรื่องการดูแลที่ราชพัสดุเท่านั้น ที่สำคัญ บจธ.มีความพร้อมทั้งงบประมาณ เพื่อการจัดซื้อที่ดินเกษตรกรรรม และนำมาจัดสรรผ่านเครือข่ายกลุ่มเกษตรกร ด้วยการผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ รวมถึงมีเครื่องมือในการสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รองรับการนำไปจัดสรรเพื่อการเกษตร ขณะที่ กรมธนารักษ์มีเพียงต้นทุนที่ดินที่เป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งบางแห่งถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า จำเป็นจะต้องนำมาจัดสรรเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุด เห็นได้ว่าในช่วงที่เกิดภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น อาหารถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุยชาติ และอาหารเกิดขึ้นจากดิน ดังนั้น หาก บจธ.สามารถจะนำที่ราชพัสดุไปให้เกษตรกรเช่าช่วง เพิ่มโอกาสในการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ก็ถือเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ และควรส่งเสริม
“ความร่วมมือในครั้งนี้ จำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสิทธิทำกินของเกษตรกร ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน ช่วยเหลือเกษตกรและผู้ยากไร้ โดยการกระจายการถือครองที่ดิน ป้องกันการสูญเสียสิทธิ จากการจำนอง ขายฝาก บังคับคดี และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ ให้มีความมั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย สามารถหาเลี้ยงครอบครัว พึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน” อธิบดีกรมธนารักษ์ ย้ำ
ด้าน นายกุลพัชร ระบุว่า ที่ผ่านมา บจธ.ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยการจัดซื้อที่ดินของเอกชน ตามที่เกษตรกรชี้เป้ามาให้ แล้วนำไปขายต่อให้กับเกษตร ในลักษณะการเช่าซื้อในระยะยาว 30 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี และที่ผ่านมา ได้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรแล้วในหลายพื้นที่ และเป็นจำนวนมาก โดยที่ดินเหล่านั้น จะได้รับการประเมินราคาที่เหมาะ ทั้งจากการประเมินของฝ่ายเจ้าของที่ดิน ของบริษัทประเมินกลาง และการประเมินของเจ้าหน้าที่ บจธ.เอง ซึ่งจะทำให้ได้ราคาที่เหมาะสม สอดรับกับราคากลางในปัจจุบัน
โดยในปี 2563 บจธ.ได้ใช้งบประมาณราว 400 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อที่ดินจากเอกชน เพื่อนำไปขายในลักษณะเช่าซื้อให้กับเกษตรกร และในปี 2564 ได้ตั้งงบประมาณเพื่อการนี้สูงถึง 1,400 ล้านบาท หรือมากกว่า 3 เท่าตัว เนื่องจากมีแผนจะขยายงานเชิงรุกในการจัดหาที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ความร่วมมือกับกรมธนารักษ์ จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการได้ที่ดิน โดยเฉพาะที่ราชพัสดุที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ มาจัดสรรใหม่ โดยที่ บจธ.พร้อมจะเช่าที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ แล้วนำไปจัดสรรเพื่อการเกษตรแก่เกษตรกรในลักษณะการเช่าช่วง
นอกจากกรมธนารักษ์แล้ว ก่อนหน้านี้ บจธ.ได้ร่วมมือกรมพัฒนาดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สำนักงานสถิติแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการบูรณาการทำงานเชิงวิชาการ และมีแผนจะร่วมกับกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ในการบูรณาทำงานในด้านนี้ต่อไป.