New Normal หมดยุคต่างชาติเที่ยวไทยถูก!
รองผู้ว่าการ ททท. ชี้! หมดยุคต่างชาติ “เที่ยวไทยราคาถูก” จากเหตุ “ตัดราคาห้องพัก” เชื่อ! ผลจากพิษโควิดฯ และ New Normal ทำต้นทุนด้านสาธารณสุขของธุรกิจโรงแรมและบริการเพิ่มสูงขึ้น เมื่อภาครัฐจำกัดจำนวนนักเที่ยวในแหล่งธรรมชาติ ส่งผลดีต่อคุณภาพนักท่องเที่ยวที่พร้อมจ่ายมากขึ้น ย้ำ! ภาพลักษณ์รัฐไทยคุมไวรัสตัวร้ายได้ และคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ โดยไม่พบการแพร่เชื้อ สร้างความเชื่อมั่นต่อต่างชาติได้มาก หวังปี 64 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ “เอเชีย-ยุโรป” เข้าไทยตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป ตั้งเป้ารายได้แค่ครึ่งนึงของปี 62
นางน้ำฝน บุณยะวัฒน์ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้านนโยบายและแผน กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการบรรยาย หัวข้อ “มิติใหม่การท่องเที่ยวยุค New Normal”จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ และมหาวิทยาหอการค้าไทย ในโครงการ พัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ณ อาคาร 7 ชั้น 12 มหาวิทยาหอการค้าไทย เมื่อช่วงสายวันที่ 15 ส.ค.2563 ว่า ธุรกิจสายการบินถือเป็น “พาร์ทเนอร์” ที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย มีความสัมพันธ์กับการท่องเที่ยวและภาคบริการอื่นๆ รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติแต่ละปี มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 70 ของรายได้การท่องเที่ยวไทย ทว่าปัจจุบันประสบปัญหาที่ไม่อาจนำเครื่องขึ้นบินได้ ทั้งยังต้องแบกรับภาระต้นทุนการเช่าที่จอดเครื่องบินและการบำรุงรักษาเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก ถือเป็นสิ่งที่ธุรกิจสายการบินไม่เคยประสบกันมาก่อน จำเป็นจะต้องได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยหากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในระดับโลกกลับสู่ภาวะปกติเมื่อใด ธุรกิจสายการบินจะเป็นเครื่องมือสำคัญนำพานักท่องเที่ยวเดินทางไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย และจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกและของไทย โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและธุรกิจเกี่ยวข้อง อาทิ ธุรกิจบริการรถขนส่ง (คนและสินค้า)
เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาห้องพักโรงแรมอยู่ในภาวะ “ล้นตลาด” (Over Supply) เพราะภาครัฐไม่อาจควบคุมปริมาณการเกิดขึ้นของห้องพักได้ เป็นเหตุให้เกิดการแข่งขันในลักษณะการตัดราคาขาย เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ ทำให้ธุรกิจโรงแรมและที่พักประสบปัญหาการขาดรายได้ตามมาอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม การที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ก็ส่งผลดีต่อภาพรวมการท่องเที่ยวในไทย เมื่อรวมกับจุดแข็งต่างๆ ที่ไทยมี ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี อาหาร ยาและสมุนไพร ฯลฯ รวมถึงระบบการให้บริการด้านสาธารณสุขที่ได้รับยกย่องจากนานาชาติ ภายหลังทางการไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกๆ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ต้องการเดินทางมาเยือน หากทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ แม้สถานการณ์ในประเทศจะเริ่มคลี่คลาย และมีประชาชนเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น แต่การเดินทางท่องเที่ยวของชาวต่างชาติยังต้องรอเวลาที่เหมาะสม คาดว่านักท่องเที่ยวจากชาติเอเชียแปซิฟิกจะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยได้ราวไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ขณะที่นักท่องเที่ยวจากยุโรป น่าจะเข้ามาได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ส่วนนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ คงอีกนานกว่าจะเดินทางมาได้ โดยขณะนี้ ททท.จำเป็นจะต้องทำการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ผ่านงานโฆษณาในลักษณะ Emotional คือ ส่งความห่วงใยถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเหล่านั้น พร้อมกับชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์และวิถีชีวิตความเป็นไปของคนไทยในปัจจุบัน จากมาตรการด้านสาธารณสุขที่สามารถรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งภาพการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศไทย จะช่วยสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เป็นอย่างดี
นางน้ำฝน ระบุว่า ที่ผ่านมาชาวต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของไทย รวมถึงชาวจีน ต่างชื่นชมประเทศไทยผ่านการชมละครทีวีและภาพยนตร์ไทย ล่าสุด ละครชื่อ “ฉันชื่อบุษบา” ทำให้ชาวต่างชาติรู้จักและชื่นชอบอาหารไทยดั้งเดิม ที่ปรุงจากวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศไทย จนหลายคนต้องการจะเดินทางมากินอาหารไทยแท้ๆ ในประเทศไทย ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรู้จักและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ทั้งนี้ ส่วนตัวก็อยากสนับสนุนคนรุ่นใหม่สร้างละครและภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาส่งเสริมสิ่งดีๆ ในประเทศไทย รวมถึงอาจเจรจากับกลุ่ม Netflix เพื่อสร้างละครซีรีส์ในลักษณะนี้เช่นกัน
“ปีนี้และปีหน้า ยังไม่ใช่ปีที่ ททท.จะมุ่งหวังเรื่องรายได้มากนัก โดยปีนี้คงไม่ต้องพูดถึงเรื่องนี้เพราะถือเป็นปีที่ไม่ปกติ แต่ปีหน้า คาดว่าน่าจะเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ ซึ่งททท.คาดหวังจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ราวครึ่งหนึ่งของรายได้ในปี 2562 หรือราว 1.5 ล้านล้านบาท พร้อมกับเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากเดิมร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 เป็นอย่างต่ำ” รองผู้ว่าการ ททท. ระบุ
ส่วนประเด็น ห้องพักโรงแรม “ล้นตลาด” ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยจำเป็นต้องขายแพ็คเกจท่องเที่ยวในราคาถูกนั้น นางน้ำฝน แสดงความเห็นว่า จากนี้ไปคงไม่เหมือนเดิม เนื่องจากผู้ประกอบการโรงแรมและที่พัก รวมถึงธุรกิจบริการอื่นๆ ต่างมีต้นทุนในการดูแลด้านสาธารณสุขที่สูงขึ้น จำเป็นจะต้องคิดราคาขายด้านการท่องเที่ยวแพงขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลโดยเฉพาะ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวตาม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น พื้นที่ที่เป็นเกาะ ภูเขา แหล่งน้ำ ฯลฯ ซึ่งการทำโซนนิ่งในลักษณะเช่นนี้ จะช่วยควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวและห้องพักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทำให้ราคาขายแพ็คเกจท่องเที่ยวของไทยกลับมาอยู่ในระดับที่ควรจะเป็นต่อไป และจะได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและพร้อมจ่ายมากขึ้น โดยเชื่อว่าจากนี้ ยุคของการขายถูกด้านการท่องเที่ยวหลังภาวะ New Normal คงไม่มีอีกแล้ว.