LPNโชว์ยอดขายอสังหาฯครึ่งปี5,700ลบ.
“แอล.พี.เอ็น.” เผยไตรมาส 2 ยอดขายรวม 3,160 ล้านบาท แจงครึ่งปีรายได้รวม 5,780 ล้านบาท พร้อมจัดทำแผนเผชิญวิกฤต เน้นเสริมสภาพคล่อง-เงินสด ป้องกันปัญหาการขาดสภาพคล่อง ซึ่งอาจนำไปสู่วิกฤตองค์กร
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN กล่าวถึงภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 2 ของปี 2563 ว่า บริษัทมียอดขายรวม 3,160 ล้านบาท โดยเป็นยอดขายจากโครงการห้องชุด 1,950 ล้านบาท และเป็นยอดขายจากโครงการบ้านพักอาศัย 1,210 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิลดลง 13.13% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้จากการขายที่ลดลงกว่า 10.24% ซึ่งเกิดจากจากสถานการณ์โควิด-19 และรายได้จากธุรกิจบริการลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนกว่า 6.34% ขณะเดียวกัน มีรายได้จากการเช่าของโครงการลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต-คลอง 1 (เฟส 3) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 43% ส่วนรายได้ค่าบริหารเพิ่มขึ้น 2.67%
สำหรับผลการดำเนินงานรวมในช่วง 6 เดือนแรกปี 63 มียอดขายรวม 5,780 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการขายห้องชุดรวม 3,820 ล้านบาทคิดเป็น 66% โดยส่วนใหญ่กว่า 68% เป็นการขายโครงการพร้อมอยู่ที่สร้างแล้วเสร็จก่อนปี 63 คิดเป็นยอดขาย 2,580 ล้านบาท หรือ 24% และเป็นโครงการที่เปิดตัวในไตรมาส 1/63 คิดเป็นยอดขาย 910 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเกิดจากการขายจากโครงการเหลือขาย 8% หรือมียอดขาย 330 ล้านบาท ขณะเดียวกัน บริษัทได้เลื่อนการเปิดตัวโครงการในไตรมาส 2 ออกไปเป็นไตรมาส 4 แทน เพื่อให้สอดคล้องต่อสถานการณ์โควิด-19
ส่วนกลุ่มโครงการบ้านพักอาศัยในช่วง 6 เดือนแรกมียอดขายรวม1,960ล้านบาท คิดเป็น 34% โดยส่วนใหญ่กว่า 42% เป็นยอดขายจากโครงการที่เปิดตัวในไตรมาส 1/63 โดยมียอดขาย 820 ล้านบาท และเป็นยอดขายที่เกิดจากโครงการสร้างแล้วเสร็จก่อนปี 63 ซึ่งมียอดขาย 650 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นยอดขายจากโครงการที่เหลือขายประมาณ 25% หรือมียอดขาย 490 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในไตรมาส 2 เป็นช่วงเวลาการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจส่วนใหญ่หยุดชะงัก จากสถานการณ์ดังกล่าว บริษัทได้จัดทำแผนเผชิญวิกฤต เพื่อให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้ โดยให้ความสำคัญต่อการเสริมสภาพคล่องและเงินสด เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง หากขาดสภาพคล่องหรือเงินสดไม่เพียงพออาจนำไปสู่เหตุการณ์บริษัทล้มละลาย โครงการต่างๆ หยุดชะงัก เหมือนที่เกิดขึ้นในปี 40
นอกจากการเสริมสภาพคล่องแล้วบริษัทยังได้จัดทำแผนลดค่าใช้จ่าย ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในทุกส่วนของการดำเนินงาน นโยบาย การไม่รับพนักงานเพิ่ม (Freeze Policy) อีกทั้งการดูแลขวัญและกำลังใจของพนักงานด้วยการประกาศนโยบาย “ไม่ลดเงินเดือน” และ “ไม่ปลดพนักงาน” เพื่อให้พนักงานซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวผ่านวิกฤต.