กูรูแนะค้าส่ง-ปลีกปรับตัวรับนิว นอร์มอล
“กูรูค้าส่ง-ปลีก” ชี้! ขนาดผู้บริโภคไทยยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมตามเทรนด์ New Normal ยอดขายช่วงโควิดฯระบาด ยังอาจฉุดยอดขายค้าปลีกไทยตลอดปี’63 ตกฮวบถึง 5 แสนล้านบาท ระบุ! ยอดขายร้านค้าฯในแหล่งท่องเที่ยว แม้แต่ร้านเซเว่นฯ ยังทรุดหนักถึง 2 หลัก ขณะที่ร้านค้าในชุมชน โดยเฉพาะร้านค้ากองทุนหมู่บ้านและประชารัฐ ยอดขายกลับพุ่ง แนะร้านค้าส่ง-ปลีก ต้องเร่งปรับตัวก่อนที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนพฤติกรรมไปมากกว่านี้
วันที่ 11 ส.ค.2563 เวลา 13.10 น. ณ ห้องบุตรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์ นายวีระพัฒน์ กฤตธนาทิพย์ ผอ.สถาบันนวัตกรรมและธุรกิจการค้าเสรี ม.เกษมบัณฑิต ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการค้าส่งและปลีก กล่าวตอนหนึ่งระหว่างบรรยาย หัวข้อ “ธุรกิจค้าส่งปลีกไทยจะปรับตัวอย่างไรในยุค New Normal” ว่า ภาพรวมธุรกิจค้าส่งและปลีกในไทย ได้รับผลกระทบเหมือนกับหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศอาเซียนรายรอบไทยพบว่ายอดขายลดลงเช่นกัน หนักสุดคือมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม ในส่วนร้านค้าปลีกของไทยที่ไม่ได้อยู่ในจังหวัดหรือแหล่งท่องเที่ยว พบว่ายอดขายไม่ได้ลดลงมากนัก โดยกลุ่มนี้มีมากถึง 80% ขณะที่ 20% ที่เคยมีรายได้หลักจากกลุ่มนักท่องเที่ยว เมื่อเกิดภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รายได้ในส่วนนี้จึงหายไป
“แม้แต่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ถ้ามีรายได้หลักจากกลุ่มนักท่องเที่ยว แต่พอเกิดวิกฤตโควิด-19 พบว่ายอดขายลดลงมากถึง 2 หลัก บางพื้นที่จากเดิมที่เคยมียอดขาย 5-6 แสนบาทต่อวัน เหลือเพียง 1 แสนบาทต่อวันเท่านั้น แต่หากเป็นร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในชุมชน รวมถึงร้านค้าชุมชนอื่นๆ ที่พึ่งพิงรายได้จากคนในชุมชนเป็นหลัก กลับพบว่ายอดขายไม่ได้ลดลงมากนัก”นายวีระพัฒน์ ระบุและว่า
ทั้งนี้ ร้านค้าปลีกในส่วนที่เป็นร้านค้าประชารัฐ รวมถึงร้านค้าของกองทุนหมู่บ้านที่มีกว่า 18,000 แห่งทั่วประเทศนั้น ไม่เพียงยอดขายจะไม่ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นในหลายๆ สาขา อันเป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยรวมตัวนั่งรถโดยสารไปซื้อสินค้าจากห้างสรรพสินค้าในเมือง เพื่อหวังรับส่วนลดและโปรโมชั่นจากทางห้างฯ แต่เมื่อเกิดปัญหาโควิดฯ จึงเปลี่ยนมาซื้อสินค้าจากร้านค้าในชุมชนแทน
นายวีระพัฒน์ กล่าวอีกว่า จากคาดการณ์ที่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ประเมินผลกระทบจากวิกฤตโควิดฯ พบว่ามูลค่าตลาดค้าปลีกในไทยปี 2563 จะหดตัวมากถึง 14% คิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปมากถึง 500,000 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดค้าปลีกในไทยปี 2562 ที่มีราว 3.5 ล้านล้านบาท ส่วนตัวมองว่า สิ่งนี้ยังไม่ใช่ผลกระทบที่มาจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในลักษณะ New Normal อย่างแท้จริง เพราะลักษณะของคนเอเชีย โดยเฉพาะคนไทย ไม่ค่อยมีความเป็นส่วนตัวสูงเหมือนคนในยุโรปหรืออเมริกา แต่ยังชอบพบปะพูดคุยและต่อรองราคา มากกว่าจะสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ร้านค้าปลีกเอง ก็จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
“การเข้าร่วมโครงการพาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน Lot 6 “ ซื้อง่าย ถูกใจ ใกล้บ้าน” ของผู้ประกอบการค้าส่งและปลีก โดยนำสินค้าราคาถูกมาจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วประเทศ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการทำการค้าในอนาคตอันใกล้” นายวีระพัฒน์ ย้ำ
ด้าน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การจัด โครงการพาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน Lot 6 “ ซื้อง่าย ถูกใจ ใกล้บ้าน” ของผู้ประกอบการค้าส่งและปลีกที่เข้าร่วมโครงการฯ ด้วยการนำสินค้าราคาถูกมาจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วประเทศ ในพื้นที่ใกล้บ้านของประชาชนครั้งนี้ จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 12 ส.ค. – 30 ก.ย.2563.