ธ.ก.ส.ฟันธง! “ข้าว-ปาล์ม-หมู” ปรับขึ้นราคา
ศูนย์วิจัยฯ ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร ส.ค.63 ชี้กลุ่ม ข้าวเปลือกหอมมะลิ ปาล์มน้ำมัน สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ขณะที่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ ยางพาราแผ่นดิบ และมันสำปะหลัง มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง
นายสมเกียรติ กิมาวหา รอง ผจก.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงคาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือน ส.ค. 2563 ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. จัดทำมา ว่า กลุ่มสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 14,747 – 14,898 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.42 – 1.44 เนื่องจากสต็อกของผู้ประกอบการลดลงและได้รับ แรงสนับสนุนจากมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 5 ของกลุ่มร้านอาหาร, ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 2.98 – 3.08 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.34 – 3.70 เนื่องจากมาตรการระบายสต็อกน้ำมันปาล์มดิบและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว จะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมีแนวโน้มลดลงจากเดือนก่อน ทำให้โรงสกัดมีการแข่งขันกันรับซื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับพื้นที่ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องเอื้ออำนวยให้คุณภาพของปาล์มน้ำมันดีขึ้น
นอกจากนี้ สุกร ราคาอยู่ที่ 72.74 – 73.18 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.08– 1.69 เนื่องจากปัญหาการระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระลอก 2 ของจีนและเวียดนาม ทำให้เกิดการขาดแคลนสุกร จึงมีการสั่งซื้อเนื้อสุกรจากไทยเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณส่งออกเพิ่มจากวันละ 5,000 – 6,000 ตัว เป็น 10,000 ตัว และ กุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัว/กก. ราคาอยู่ที่ 147.25 – 148.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.17– 0.68 เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่งผลให้ความต้องการกุ้งของตลาดภายในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มลดลงในช่วงระหว่างการเพาะเลี้ยง ประกอบกับจีนงดนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์ ทำให้กุ้งไทยมีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น
ด้าน สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,711 – 8,857 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.27 – 1.91 เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังรอบ 2 เริ่มออกสู่ตลาด และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นกว่าประเทศคู่แข่ง ทำให้ความสามารถการแข่งขันด้านราคาลดลง, ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 15,799 – 15,853 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.26 – 0.60 เนื่องจากมีการนำเข้าผลผลิตข้าวเหนียวจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีราคาถูกกว่าเข้ามาภายในประเทศมากขึ้น, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 8.01 – 8.04 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.00 – 1.50 เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 (ส.ค.- พ.ย.) ขณะที่ความต้องการใช้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ยังน้อยกว่าผลผลิตที่ออกสู่ตลาด
ขณะที่ น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 11.50 – 11.61 เซนต์/ปอนด์ (8.04 – 8.12 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.00 – 2.00 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง เป็นปัจจัยกดดันราคาเอทานอล จึงกระตุ้นให้โรงงานน้ำตาลของบราซิลเพิ่มสัดส่วนนำอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาลแทนการผลิตเอทานอล ทำให้มีการส่งออกน้ำตาลมากขึ้น ประกอบกับความเป็นไปได้ที่อินเดียจะระบายสต็อกน้ำตาลที่มีอยู่ประมาณ 14 ล้านตัน เป็นแรงกดดันให้ราคาน้ำตาลมีแนวโน้มลดลง, ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 37.00 – 37.50 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.74 – 2.06 เนื่องจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าและราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้การส่งออกยางพาราแผ่นดิบของไทยลดลง
อย่างไรก็ตาม ราคายางมีโอกาสปรับตัวขึ้นจากสนับสนุนมาตรการภาครัฐ และความต้องการใช้ยางพาราภายในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และ มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.57 – 1.62 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.61 – 3.68 เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาลผลิต โรงงานรับซื้อส่วนใหญ่ปิดทำการ ประกอบกับเป็นช่วงฝนตกชุกในหลายพื้นที่ปลูกสำคัญ ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังมีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ ส่งผลให้ราคาขายลดลง.