สภาธุรกิจอาเซียน-สหภาพยุโรป ให้คำแนะนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
สภาธุรกิจอาเซียน-สหภาพยุโรป ให้คำแนะนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
กลยุทธ์สำคัญฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง COVID-19 และสร้างอาเซียนเติบโตระยะยาว
- โอกาสทางการค้าและการลงทุน แหล่งรายได้เพิ่มเติม ความปลอดภัยด้านอาหาร เป็นปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจและสังคมในแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
- เมืองทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผลิตขยะพลาสติก 60% ของทั้งโลก ทั่วโลกจ่ายค่ากำจัดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ปีละ 80,000 – 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- แบบจำลองเศรษฐกิจหมุนเวียนในเอเชีย นำมาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ 324,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างงาน 1.5 ล้านตำแหน่งภายในปี 2568 ช่วยฟื้นฟูผลกระทบของ Covid-19 อย่างรวดเร็วและยั่งยืน
กรุงเทพ 29 กรกฎาคม 2563 – คณะสภาธุรกิจอาเซียน–สหภาพยุโรป (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) คณะทำงานหลักเพื่อภาคธุรกิจของยุโรปในภูมิภาคอาเซียน เผยแพร่ “กำหนดการความก้าวหน้าอาเซียนจากระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” เอกสารดังกล่าว บรรจุโครงร่างมูลค่าโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาด สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การรวมกลุ่มอาเซียน โดยEU-ABC วางกลยุทธ์ใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นตัวเร่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมให้คำแนะนำบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจจากโควิด19 และผลักดันการเติบโตระยะยาว
แบบจำลองเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนได้รับการออกแบบมาเพื่อแยกการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการใช้ทรัพยากร ช่วยให้ธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างสมดุล โดยมีหลักการ 3 ประการ ประกอบด้วย 1) การลดของเสียและมลพิษ 2) การเพิ่มศักยภาพของผลิตภัณฑ์และวัสดุ และ 3) การทำให้ระบบนิเวศทางธรรมชาติมีโอกาสเติบโต โดยหลีกเลี่ยงการใช้ทรัพยากรที่ใช้ซ้ำไม่ได้
โดนัลด์ แคแนก ประธานสภาธุรกิจอาเซียน-สหภาพยุโรป และ Eatspring Investments กล่าวว่า “โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นรากฐานการสร้างความยืดหยุ่น ความพร้อม และขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมทุกระดับ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องสำคัญต่อการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจและประชากรของอาเซียน โดยกลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียนสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ระดับภูมิภาคในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 36 ที่ผ่านมา ซึ่งผู้นำย้ำถึงความจำเป็นในกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุม เข้มแข็ง มีองค์รวมครอบคลุมทุกเพศทุกวัย รักษาการเติบโตและอุดมสมบูรณ์ในระยะยาวให้แก่ภูมิภาค”
แนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียนเกี่ยวข้องกับการกำจัดของเสียทุกแง่มุม EU-ABC เน้นความเร่งด่วนของการจัดการกับขยะพลาสติก จากข้อมูลของสหประชาชาติ เมืองต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีขยะพลาสติกมากถึง 60% ของทั่วโลก โดยในเขตเทศบาลเมืองทั่วอาเซียนผลิตขยะพลาสติกถึง 18% ซึ่งปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการทิ้งขยะและการเผาขยะที่ไม่ได้รับการควบคุม รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จำกัดต่อการกำจัดขยะพลาสติกที่เหมาะสม
เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม คาดการณ์ว่าขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะมูลค่า 80,000 – 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะที่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) พบเศษขยะพลาสติกจากภาคการท่องเที่ยว การประมง และอุตสาหกรรมการขนส่ง ต้องเสียค่าใช้จ่ายกำจัดขยะราว 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
EU-ABC ให้คำแนะนำรัฐบาลแห่งชาติ แบ่งเป็น 3 แนวทาง 1. แนวทางระยะสั้น รัฐบาลควรจัดทำกระบวนการที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติก เช่น การเก็บขยะ การแยกขยะ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อลดการใช้งานพลาสติกเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ควรจัดให้คำปรึกษาทั้งแบบสาธารณะ และส่วนตัว ซึ่งสำคัญยิ่งต่อการหารือเกี่ยวกับแผนการริเริ่มที่ยั่งยืนในระยะยาว 2. แนวทางระยะกลางถึงระยะยาว รัฐบาลควรให้การสนับสนุนองค์กรต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เริ่มด้วยการให้การศึกษาและการฝึกอบรมก่อนจะย้ายไปยังศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรม ควรกำหนดระเบียบและกรอบการทำงานที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมการจัดเก็บขยะ ท้ายที่สุดการสร้างมาตรฐานของฉลากรีไซเคิลจะช่วยสร้างความมั่นใจระดับภูมิภาคได้ 3. ระดับอาเซียน สำนักเลขาธิการอาเซียน เป็นหัวหอกการวิจัยและสร้างนวัตกรรมให้แก่โพลิเมอร์และบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ซึ่งใช้เป็นทางเลือกทดแทนการใช้พลาสติกได้ ข้อตกลงกรอบกว้างของอาเซียนเกี่ยวกับมลพิษพลาสติกยังนำมาเจรจาสร้างแนวทางร่วมกันระดับภูมิภาคได้ เพื่อเป็นการยืนยันคำมั่นสัญญาและความสามารถของรัฐสมาชิกในการแก้ไขปัญหาท้าทายร่วมกัน |
การใช้วิธีการแบบหมุนเวียน ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มการค้าขาย และการลงทุนกับคู่ค้าที่มีแนวคิดเหมือนกัน เช่น สหภาพยุโรป และเกาหลีใต้ และผลักดันการสร้างงาน สร้างระบบนิเวศที่ดี ช่วยให้คนรุ่นต่อไปในอนาคตเจริญเติบโต สถาบันวิจัยเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) พบว่าการใช้แบบจำลองเศรษฐกิจหมุนเวียนในเอเชียจะนำมาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ 324,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างงาน 1.5 ล้านตำแหน่งภายในปี 2568 เป็นวิธีช่วยประหยัดต้นทุน และเป็นกลยุทธ์ช่วยฟื้นฟูผลกระทบของ Covid-19 ได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน
เอกสารเผยแพร่ ระบุว่าเนื่องจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมเป็นอันตรายต่อกลุ่มคนล่างสุดของสังคมมากที่สุด การใช้เศรษฐกิจแบบหมุนเวียนเป็นสิ่งช่วยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างรายได้เพิ่มเติม และยังเป็นสิ่งกำหนดอนาคตคนอาเซียน รัฐบาลจึงควรเป็นผู้นำและมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้น ชี้นำ และเชิญชวนองค์กรต่างๆ ให้เข้าร่วมและรับทราบถึงประโยชน์ของเศรษฐกิจหมุนเวียน