กนอ.ทุ่มเกือบ 300 ลบ.ช่วยผู้ประกอบการ

กนอ.ออกมาตรการช่วยเหลือ ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการใน นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติมระยะ2 มูลค่ารวมทั้งสิ้น 280 ล้านบาท
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ.ที่มีนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติม (ระยะ2) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 280 ล้านบาท และเมื่อรวมกับมาตรการความช่วยเหลือระยะที่ 1 แล้ว จะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 309 ล้านบาท
สำหรับรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม(ระยะ2) ประกอบด้วย 1.การลดหย่อนอัตราค่าเช่าที่ดินในอัตราร้อยละ 10 ให้แก่ผู้เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมทุกประเภท ยกเว้นผู้เช่าที่ดินพร้อมอาคาร สำหรับผู้เช่าที่ดินที่ต้องชำระค่าเช่าระหว่างเดือนมกราคม–ธันวาคม 2563 โดยต้องเป็นผู้เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.บริหารจัดการเองและท่าเรืออุตสาหกรรม จำนวน 14 แห่ง ไม่รวมผู้ประกอบการรายย่อย(ขนาดย่อม) ที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว
ทั้งนี้ ผู้เช่าที่ดินสามารถขอคืนหลักประกันสัญญาเช่าส่วนที่เป็นเงินสดได้ โดยการนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารภายในประเทศในมูลค่าที่เท่ากันมาวางแทน ซึ่งมีเงื่อนไขต้องเป็นผู้เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ระยะเวลาการเช่าไม่น้อยกว่า 5 ปี รวมเป็นวงเงินความช่วยเหลือกรณีนี้ทั้งสิ้นประมาณ 140.4 ล้านบาท
2.การลดหย่อนค่าเช่าที่ดินในอัตราร้อยละ 10 สำหรับผู้เช่าที่ต่อสัญญาเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ระหว่างเดือนมกราคม- ธันวาคม 2563 และเป็นสัญญาเช่าระยะยาว(10 ปีขึ้นไป) และต่อสัญญาเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.บริหารจัดการเอง และท่าเรืออุตสาหกรรม จำนวน 14 แห่ง ไม่รวมผู้ประกอบการรายย่อย (ขนาดย่อม) ที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว รวมเป็นวงเงินความช่วยเหลือในกรณีนี้ทั้งสิ้นประมาณ 62.1 ล้านบาท
และ 3.ลดหย่อนค่ากำกับการบริการในอัตราร้อยละ 50 สำหรับนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่เปิดดำเนินการแล้ว จำนวน 30 แห่ง และยกเว้นค่ากำกับการบริการสำหรับนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยยังไม่เปิดดำเนินการ จำนวน 13 แห่ง และได้ขยายระยะเวลาการชำระเงินออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 รวมเป็นวงเงินความช่วยเหลือกรณีนี้ทั้งสิ้นประมาณ 77.4 ล้านบาท
อย่างไรก็ดีในปีงบประมาณ 2563 มีการแจ้งเริ่มกิจการใหม่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จำนวน 114 โรงงาน มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น จำนวน 12,019 คน ส่งผลให้มีตัวเลขโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมสะสม (ถึง มิ.ย.63) มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 6,112 โรง มีการจ้างงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 515,962 คน โดย กนอ.เชื่อมั่นว่ามาตรการนี้จะช่วยเหลือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมและผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมได้อย่างเหมาะสมทันท่วงที ลดภาระและยังเสริมสภาพคล่องได้ในคราวเดียวกันอีกด้วย