สศช.แจงจ่ายเงิน อสม.
ตามที่ได้มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ กรณีสภาพัฒน์ฯ ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ พิจารณาตัดเงินช่วยเหลือ อสม. จาก 19 เดือน เหลือ 7 เดือน โดยมิได้คำนึงถึงบทบาทและภารกิจของ อสม. ในช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 นั้น
สภาพัฒน์ฯ ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ขอเรียนข้อเท็จจริง ดังนี้
- กระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอโครงการเพื่อขอใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (แผนงานหรือโครงการที่ 1) ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ ซึ่งแผนงานดังกล่าวมีกรอบวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ สำหรับการเตรียมความพร้อม และการแก้ไขปัญหากรณีที่เกิดการระบาดของไวรัส Covid-19 ในวงเงิน 45,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอโครงการที่อยู่ภายใต้แผนงานด้านสาธารณสุขเพื่อขอรับการจัดสรรจากเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดในวงเงินรวมประมาณ 51,985 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดครอบคลุมโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของ อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงินไม่เกิน 10,019.9255 ล้านบาท ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษคนละ 500 บาทต่อเดือนให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุข จำนวน 1,054,729 คน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 – กันยายน 2564
- การกลั่นกรองความเหมาะสมของโครงการที่เสนอขอใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดนั้น เป็นการดำเนินการโดยใช้กลไกคณะกรรมการกลั่นกรองฯ และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมาร่วมกันพิจารณากลั่นกรองโครงการ โดยคณะอนุกรรมการฯ ที่กลั่นกรองโครงการด้านสาธารณสุข ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงการคลัง (สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กรมบัญชีกลาง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก โดยคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวจะพิจารณากลั่นกรองโครงการและทำความเห็นเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณา
สำหรับกรณีโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของ อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงินไม่เกิน 10,019.9255 ล้านบาท นั้น คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า อสม. เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานด้วยความเสียสละมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่ง อสม. เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับค่าตอบแทนที่ อสม. ได้รับในขณะนี้ จำนวน 1,000 บาทต่อเดือน
เมื่อเปรียบเทียบกับภาระงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้ข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขที่ขอให้มีเงินเพิ่มพิเศษอีก 500 บาทต่อเดือน สำหรับ อสม. จึงมีความเหมาะสมที่ควรปรับเพิ่มให้ได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาระยะเวลาในการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้จ่ายตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 – กันยายน 2564 (19 เดือน) นั้น คณะกรรมการฯ ได้ พิจารณามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 เรื่องการเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ และมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นสำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขรองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เห็นชอบให้บุคลากรสาธารณสุขผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้รับเงินเพิ่มเติมพิเศษรายเดือน และหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0408.5/ว102 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับบุคลากรสาธารณสุขผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งกำหนดอัตราการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และระยะเวลาสิ้นสุดการจ่ายเงิน เพิ่มพิเศษระยะแรกดังกล่าวไว้ที่เดือนกันยายน 2563 คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาหลักการของหนังสือกระทรวงการคลังดังกล่าว ประกอบกับกรอบวงเงินด้านสาธารณสุขของพระราชกำหนดฯ ที่กำหนดไว้ในวงเงิน 45,000 ล้านบาท เปรียบเทียบกับภาพรวมวงเงินของแผนงานสาธารณสุขที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอขอใช้จ่ายจากเงินกู้ในวงเงิน 51,985 ล้านบาท (เกินจากกรอบวงเงินของพระราชกำหนดฯ คิดเป็นจำนวน 6,985 ล้านบาท) และพิจารณาระยะเวลาการจ่ายเงินที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้จ่ายตั้งแต่มีนาคม 2563 – กันยายน 2564 คิดเป็นวงเงินประมาณ 10,019.9255 ล้านบาท และคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงปัจจัยความไม่แน่นอนของการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดการระบาดซ้ำในช่วงต่อไปหรือไม่
ซึ่งในกรณีที่หากเกิดการระบาดในวงกว้างในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งกรอบวงเงินกู้ที่กำหนดไว้ในด้านสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท จะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจะเป็นเม็ดเงินหลักในการแก้ไขปัญหาการระบาดในกรณีที่มีการระบาดซ้ำเป็นวงกว้างภายในประเทศ
คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ จึงมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้
เห็นควรให้ความเห็นชอบโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับค่าใช้จ่าย ค่าเยียวยา ค่าชดเชยและค่าเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดหาผู้ชำนาญการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (แผนงานหรือโครงการที่ 1) เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษคนละ 500 บาทต่อเดือน ให้แก่ อสม. และ อสส. รวมจำนวนไม่เกิน 1,054,729 คนต่อเดือน ระยะเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ถึงกันยายน 2563 กรอบวงเงินไม่เกิน 3,622.3195 ล้านบาท เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 และหนังสือเวียนของกระทรวงการคลังที่กำหนดให้จ่ายเงินเพิ่มพิเศษถึงเดือนกันยายน 2563
ทั้งนี้ หากกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสี่ยงของการระบาดมากขึ้นก็ให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งนำเสนอเหตุผลความจำเป็น เพื่อขยายเวลาการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาพรวมต่อไป