ชู “มนูญ” นั่ง รษก.สื่อทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า
ดึง “มนูญ ศิริวรรณ” นั่งรักษาการประธานชมรมเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า พร้อมวาง “มิชชั่นหลัก” ส่งต่อข้อมูลข้อเท็จจริง บนพื้นฐานความรู้และความเข้าใจ ไปสู่สังคมไทย หวังลดปมความขัดแย้งเช่นในอดีต มั่นใจทำงานคู่ขนานกับเอ็นจีโอได้ แต่ต้องเป็นคนละทีมเดียวกัน
ปมความขัดแย้ง! ในประเด็น “โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า” ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าประเภทใดก็ตาม? คู่กรณี…ระหว่าง “ภาครัฐและผู้สนับสนุน” ฝ่ายหนึ่ง กับ “กลุ่มต่อต้าน” ทั้งที่เป็นกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่และเอ็นจีโอต่างถิ่น อีกฝ่ายหนึ่ง จะยังคงอยู่ตลอดไป…ตราบใดที่ทุกฝ่าย ยังไม่ถอยคนละหลายๆ ก้าว
และปัญหาข้างต้น คงยากจะคลี่คลาย กระทั่ง ทั้งสองฝ่ายสามารถหาจุดที่ลงตัว…เดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านพลังงานได้อย่างเพียงพอ คู่ขนานไปกับการดูแลผลกระทบในทุกมิติ ทั้งด้านวิถีชีวิตของชุมชน สิ่งแวดล้อม และมลภาวะที่ดี…ได้
ตราบใดที่การส่งถึง “ข้อมูล” ไปยังประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ ขาดซึ่ง “ข้อเท็จจริง” แบบตรงไปตรงมา…ไร้วาระซ่อนเร้น!
“ตัวกลาง” ที่นำส่ง “ข้อมูล” อันเป็น “ข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับ…ข้อดี-ข้อเสีย จุดอ่อน-จุดแข็ง เหตุผลและความจำเป็น ของ “โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า” เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้พินิจพิเคราะห์ และตัดสินใจร่วมกัน บนหลักการและเหตุผลจากพื้นฐานที่อิงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ จะต้องมีฐานความรู้ด้านพลังงานอย่างลึกซึ้งเสียก่อน
ทว่า สื่อมวลชน ผู้ทำหน้าที่ “ตัวกลาง” ในการสื่อสารข้อมูลและข้อเท็จจริง…กลับมีเพียงส่วนน้อยที่รู้และเข้าใจในประเด็นพลังงานไฟฟ้าและโรงไฟฟ้า จำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องเร่งสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อทำหน้าที่ “ตัวกลาง” อย่างสร้างสรรค์
ไม่เชียร์ออกนอกหน้า และไม่คัดค้านแบบเคลือบแฝง
นั่นจึงนำไปสู่แนวคิดการจัดตั้ง…เครือข่ายสื่อมวลชนฯ เพื่อสร้าง “ตัวกลาง” อย่างสร้างสรรค์ ในการนำส่งข้อมูลและข้อเท็จจริงไปยังผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนับจากนี้ไป
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จัดประชุมเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า เพื่อวางแนวทางการดำเนินงาน ครั้งที่ 1 เมื่อช่วงสายของวันที่ 23 ก.ค.2563 ณ โรงแรมสวิส โซเทล กรุงเทพฯ รัชดา เป้าหมายตรงกับที่ได้เกริ่นในตอนต้น นั่นคือ สร้าง “ตัวกลาง” ในการสื่อสารข้อมูลและข้อเท็จจริง ไปยังกลุ่มคนผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในอนาคต
นายกิตติพงษ์ ภิญโญตระกูล รองเลขาธิการ กกพ. นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กก.ผจก. บจ. ดิ.เอ็ก โซลูชั่น ในฐานะ “ผู้บริหารโครงการฯ” และนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน คือ “3 ผู้ร่วมแถลงข่าว” โครงการนี้ และเป็น นายมนูญ ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องให้เข้าไปรักษาการในตำแหน่ง “ประธานชมรมเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า” จนกว่าจะมีการเลือกตั้งและได้ประธานเครือข่ายฯตัวจริงในวันข้างหน้า
นายกิตติพงษ์ ย้ำว่า สื่อมวลชน คือ “ผู้นำความเปลี่ยนแปลง” มาสู่สังคมไทย หากสื่อมวลชนมีความรู้และความเข้าใจในทุกมิติด้านพลังงาน เชื่อว่าจะสามารถถ่ายทอดต่อไปยังประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการจัดสัมมนาองค์ความรู้ด้านพลังงานมาแล้ว 6 ครั้ง กระทั่ง สร้าง “ผู้นำความเปลี่ยนแปลง” ร่วมเป็นเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า ได้มากพอจะรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนในการสร้างประโชน์ต่อประเทศชาติ ต่อสังคมไทย ต่อประชาชน และที่สำคัญ จะเป็นประโยชน์ต่อระบบไฟฟ้าของประเทศ
ด้าน นางดรุณวรรณ กล่าวว่า การจัดสัมมนาองค์ความรู้ด้านพลังงาน เกิดขึ้นในพื้นที่…กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ กระทั่ง ได้จัดทำ “โฟกัส กรุ๊ป” เพื่อสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า ขึ้นมา เบื้องต้นได้จัดตั้งเป็นชมรมเครือข่ายฯ โดยเชิญนายมนูญ ทำหน้าที่รักษาการ ประธานชมรมฯ และมีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนสื่อมวลชนจากกลุ่มสถานีโทรทัศน์ 6 คน จากกลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์ 8 คน และอีก 8 คน มาจากสื่อออนไลน์ รวมเป็นกรรมการฯ 20 คน
ทั้งหมดจะทำหน้าที่ให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ และพลังงานไฟฟ้าจะขยะ อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทฯจะหมดหน้าที่ในการบริหารโครงการฯหลังสิ้นวันที่ 30 ก.ย.2563 ภารกิจนี้จะถูกส่งต่อไปยังชมรมเครือข่ายฯ เพื่อให้การดำเนินงานได้รับการขับเคลื่อนต่อไป
ขณะที่ นายมนูญ ในฐานะ รักษาการประธานชมรมเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า เสริมว่า เหตุที่โฟกัสการผลิตไฟฟ้าในกลุ่มโซลาร์เซลล์ และขยะ เนื่องจากอย่างแรกเป็นพลังงานสะอาด ที่ได้มาฟรี ขณะที่ ต้นทุนผลิตก็มีราคาถูกลงตามเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยขึ้น ขณะที่ ชุมชนในหลายพื้นที่ ประสบปัญหาขยะล้นเมือง ดังนั้น หากสร้างโรงไฟฟ้าที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะได้ จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ทางชมรมเครือข่ายฯ พร้อมจะนำเสนอทางเลือกใหม่ในการผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น…การผลิตไฟฟ้าจากลม ไฟฟ้าชีวมวล และอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย โดยเชื่อว่าแนวทางนี้ จะก่อประโยชน์ต่อสังคมไทย ต่อวิถีชีวิตของชุนชน ต่อสภาวะสิ่งแวดล้อมและมลภาวะ
“เราไม่ต้องการชี้นำ เชียร์ หรือคัดค้าน การสร้างหรือไม่สร้างโรงไฟฟ้าประเภทไหน แต่หน้าที่หลักของเราคือ การให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะโอกาสที่มากับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า ขณะเดียวกัน ก็ลดทอนปัญหาที่จะเกิดขึ้นตาม ซึ่งถ้าประชาชน หรือชาวบ้านในพื้นที่จะต่อต้านและคัดค้าน ก็เป็นไปด้วยหลักการและเหตุผล บนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ใช่เรื่องหากจะมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่จะไม่ใช่การต่อต้านและคัดค้านบนความไม่รู้อีกต่อไป” นายมนูญ ย้ำและว่า
ส่วนข้อเสนอของสมาชิกฯ ที่ต้องขยายผลเครือข่ายเพิ่มเติมจากกลุ่มสื่อมวลชน ด้วยการเชิญ องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) มาร่วมเครือข่ายฯ ด้วยนั้น ส่วนตัวเห็นว่า สิ่งนี้…อาจเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มตั้งจัดตั้งชมรมเครือข่ายฯ เนื่องจากที่ผ่านมาเอ็นจีโอมักจะมีมุมมองและความคิดเห็นที่ขัดแย้งและแตกต่างกันจนสุดขั้ว แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าอนาคตข้างหน้าจะทำร่วมกันไม่ได้ เพียงแต่ในขณะนี้ ขอให้การจัดตั้งชมรมเครือข่ายฯเกิดขึ้นมาให้ได้ก่อน เชื่อว่าการทำงานร่วมกับเอ็นจีโอจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน.