ไร้ “สมคิด” ไร้คนเอ็กซ์เรย์ เกมอนุมัติงบ 4 แสนล.

ร่อนตะแกรง! กรองพบโครงการตามมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ 4 แสนล้านบาท ตอบโจทย์รัฐบาลได้ตรงจุดแค่ไม่กี่โครงการฯ จากทั้งหมดที่ “เฮโล” ชงกันขึ้นมา…กว่า 4.3 หมื่นโครงการ เผย! โปรเจ็กต์ “3 แผนงานหัวใจหลัก” ของ สทบ. โดนใจ! คนสภาพัฒน์มากสุด ลุ้นแรง! ในวันไร้เงา “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” โอกาสความเบี่ยงเบนจากเป้าหมายเดิมของรัฐ จะเป็นเช่นใด?

ในวันที่รัฐบาล…ไม่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผู้คอยกำกับดูแลนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ร่วมงาน…
นาทีนี้…จึงไร้คนที่จะตามติดและเร่งรัดการอนุมัติโครงการฯที่ส่วนราชการและหน่ายงานของรัฐ นำเสนอต่อ…คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 พ.ศ.2563 (เงินกู้ 400,000 ล้านบาท) ที่มี นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สวมบทบาทเป็น…ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ชุดนี้
อาการกระตุก! จากที่จะต้องเร่งรัดอนุมัติโครงการและเม็ดเงิน เพื่อขับเคลื่อนโครงการสร้างความเชื่อมโยงกับ…การจ้างงานใหม่ แก้ไขปัญหาการว่างงาน หลังจากภาคธุรกิจต้องหยุดดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา รวมถึง ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ให้เข้มแข็ง เน้นพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศ ระหว่างที่เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว…กำลังมีปัญหา

เริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว…
ทำให้หลายฝ่าย…ไม่ว่าจะเป็น นักการเมืองฝ่ายค้าน กลุ่มอาจารย์นักวิชาการ เอ็นจีโอ ภาคประชาชน ฯลฯ โดยเฉพาะ เครือข่าย “กลุ่มคนอกหัก” ที่จำต้องลาออกจากคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน อาจเปิดปฏิบัติการตรวจสอบชนิดลงลึกเป็นกรณีพิเศษ ต่อการตัดสินใจ “ให้หรือไม่ให้” โครงการไหน? จากหน่วยงานใด? ของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ
“การบ้านเดิม” ที่ นายสมคิด กำชับตรงไปยัง นายทศพล ต่อหน้าคณะผู้สื่อข่าวหลายสิบชีวิต ที่ติดตามทำข่าวการประชุมร่วมกันในครั้งนั้น ณ ห้องประชุมวายุภักดิ์ 4 กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา โดย…เน้นย้ำให้ สภาพัฒน์และคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ให้น้ำหนักความสำคัญกับการพิจารณาอนุมัติเป็นการเร่งด่วน! กับโครงการที่ผูกโยงกับการสร้างความเข้มแข็งต่อระบบเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะโครงการที่จะก่อเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่น โฟกัสไปยังกลุ่มผู้ว่างงานที่กลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง
ถึงตรงนี้ “การบ้าน” ข้อนั้น…เปลี่ยนโจทย์ไปแล้วหรือไม่?

สำหรับโครงการ/แผนงานที่ส่วนราชการและหน่วยงานรัฐ ทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ต่างก็จัดทำและนำเสนอเข้ามายังสภาพัฒน์ (คณะกรรมการกลั่นกรองฯ) รวมกันมากกว่า 4.3 หมื่นโครงการ คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 1.3 ล้านล้านบาทนั้น จะมีที่ตรงกับเป้าหมายของรัฐบาลจริงๆ ไม่ถึง 1 ใน 3 ของโครงการที่เสนอกันมา
นั่นหมายความว่า…หากวัดกันที่เนื้องาน ซึ่ง ตอบโจทย์ “การบ้าน” และเป้าหมายของรัฐบาล แล้ว…
มีโครงการ/แผนงานที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์จริงๆ ยังไม่ถึง 4 แสนล้านบาท ตามกรอบวงเงินที่รัฐบาลจัดสรรในการกำหนดมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ ในรอบนี้ด้วยซ้ำไป
หมายความว่า…โครงการ/แผนงานใดก็ตาม ที่ตอบโจทย์รัฐบาล ในการขับเคลื่อนและสร้างความเข็มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการสร้างงานและส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับชุมชน ก็ควรจะได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการกลั่นกรองฯทั้งหมด ซึ่งยังมีไม่ถึงวงเงินเต็ม 4 แสนล้านบาท ด้วยซ้ำไป?

แต่เมื่อ “คนคุมเกม” เปลี่ยน! ใจของ “คนจัดการ” จะแปรเปลี่ยนหรือไม่? ต้องลุ้น!
“วงใน” คนของสภาพัฒน์ ที่ได้อ่านผ่านตากับสารพัดโครงการ/แผนงานที่มีถึง…คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน
โครงการ/แผนงาน…ระดับ “หัวกะทิ” มีไม่ถึง 10 ชิ้น หนึ่งในนั้น…มีโครงการของ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สทบ.) รวมอยู่ด้วย…
เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS มีโอกาสได้เห็นโครงการ…ภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตามบัญชีท้าย พ.ร.ก. ให้อานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ที่ สทบ. เสนอต่อ…คณะกรรมการกลั่นกรองฯ
มีหลายมุมที่น่าสนใจ…โดยเฉพาะ 3 แผนงาน “หัวใจหลัก” ที่ สทบ.จัดทำไว้ นั่นคือ 1.พัฒนาศักยภาพและยกระดับเศรษฐกิจชุมชน 2.พัฒนาการค้าออนไลน์ประจำหมู่บ้าน และ 3.พัฒนาศูนย์บริการออนไลน์เพื่อการจัดการขนส่ง

แต่ละแผนงานใหญ่ มีแผนงานย่อยรอการขยายผล ทั้งหมดสอดรับกับวัตถุประสงค์ที่ สทบ.ตั้งเอาไว้ ประกอบด้วย…
การยกระดับเศรษฐกิจชุมชนเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับทุกหมู่บ้าน 79,604 แห่งทั่วประเทศ, พัฒนาตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ระหว่างหมู่บ้าน 20,000 แห่ง, พัฒนาตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดการซื้อขายระหว่างหมู่บ้าน 20,000 แห่ง, พัฒนาและเสริมสร้างอาชีพใหม่ให้กับคนในหมู่บ้าน 39,604 แห่ง, พัฒนาส่งเสริมการตลาดออนไลน์ โดยจัดตั้งร้านค้าออนไลน์ประจำกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ, พัฒนาศูนย์บริการออนไลน์เพื่อจัดการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าของกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ, พัฒนาบุคลากร บุตรหลานสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน เพื่อเป็นผู้นำคนรุ่นใหม่ในการเพิ่มรายได้ให้กับหมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 238,812 คน ทั่วประเทศ (79,604 หมู่บ้านๆ ละ 3 คน)
และ การจัดทำแผนพัฒนาและฟื้นฟูเพื่อเพิ่มรายได้กองทุนหมู่บ้านให้เข้ากับยุคปกติใหม่ (New Normal) 79,604 แผนงาน ประจำหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อใช้ในการเพิ่มศักยภาพการรองรับแรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง หากต้องการย้ายกลับถิ่นฐานไปประกอบอาชีพในหมู่บ้านของตน รวมทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน

แบ่งเป็น…แรงงานในภาคการท่องเที่ยว 2.5 ล้านคน, แรงงานในภาคอุตสาหกรรม 1.5 ล้านคน และแรงงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวอีก 4.4 ล้านคน
จัดว่า…เป็นโครงการ/แผนงานที่คิดและเดินเครื่องได้ครบลูป…ครบวงจรอย่างยิ่ง! มีกรอบเวลาการดำเนินงานที่ชัดเจน!
ทุกอย่างเชื่อมโยง…สอดประสานกันและกัน ตั้งแต่ระดับภายในชุมชนของแต่ละกองทุนหมู่บ้าน ขยายผลไปยังกองทุนต่างหมู่บ้าน ต่างจังหวัด และต่างภาค กระจายไปทั่วประเทศ ครอบคลุมสมาชิก 12.9 ล้านครัวเรือน หรือราว 40 ล้านคน จากทั้ง 79,604 กองทุนหมู่บ้าน
แถมในทุกโครงการ/แผนงาน…ยังสามารถตรวจวัดผลสัมฤทธิ์ อย่างจับต้องได้
หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ เคยมีข่าวออกมาจากสภาพัฒน์ ทำนอง…โครงการ/แผนงานเฟสแรกที่อนุมัติให้กับส่วนราชการและหน่วยงานรัฐ หนึ่งในนั้น…มีโครงการ/แผนงานของ สทบ.รวมอยู่ด้วย แต่กรอบวงเงินที่ สทบ.เสนอไปเกือบ 4 หมื่นล้านบาทนั้น สภาพัฒน์ ในนาม…คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ให้ได้เพียง 15,920 ล้านบาท

ล่าสุด นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผอ.สทบ. ยืนยันว่า…ยังไม่มีคำตอบชัดเจนในเรื่องการอนุมัติโครงการ/แผนงาน รวมถึงวงเงินประมาณ จาก สภาพัฒน์ แต่อย่างใด ที่ผ่านมาเป็นเพียงการรายงานข่าวจากสื่อบางค่ายเท่านั้น นั่นเท่ากับว่า…ทุกอย่างยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ
ในส่วนของ สทบ.นั้น เขาเชื่อว่า…โครงการ/แผนงานที่เสนอไป มีความสมบูรณ์และเชื่อมโยงกันอย่างลงตัว ระหว่าง…การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างตลาดค้าออนไลน์ และการวางระบบการขนส่ง นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนโดยกองทุนหมู่บ้านฯ และการจ้างลูกหลานของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ รวมกันกว่า 2 แสนคน เพื่อจัดทำข้อมูลและวางแผนงานการพัฒนาในทุกมิติ สำหรับใช้เป็น “เข็มทิศ” ต่อยอดการดำเนินงานของแต่ละกองทุนหมู่บ้าน
“แผนงานและงบประมาณที่ สทบ.เสนอไปนั้น สอดคล้องการเนื้องานจริง สามารถจะดำเนินการเพื่อให้เกิดผลในเชิงการปฏิบัติได้จริง ซึ่งหาก คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ไม่ตัดทอนงบประมาณที่ สทบ.ขอไว้แล้ว ผมมั่นใจว่าสิ่งที่เราจะทำทันทีที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเต็มจำนวนตามที่ขอไปนั้น จะก่อประโยชน์ต่อสมาชิกกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ โดยเฉพาะการจ้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มคุณภาพชีวิต รวมถึงสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจภายในชุมชนแต่ละหมู่บ้าน ต่อระบบเศรษฐกิจฐานราก และต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ที่จำเป็นจะต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศในยามนี้ได้เป็นอย่างดี” นายรักษ์พงษ์ ย้ำ
ถึงนาทีนี้ แม้ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมในฐานะ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ยังหาความลงตัวในการเซ็ท “ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่” ไม่เจอ…

ทว่า การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก ที่รัฐบาลพุ่งเป้าไปยังแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มคนตกงานและนักศึกษาจบใหม่ ที่ต่างก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมกันราว 8 ล้านคน ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป…
ส่วนใหญ่ของแรงงานในกลุ่มนี้ กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด ด้วย 2 เหตุผล หนึ่ง…เพราะถูกเลิกจ้างหรือถูกให้ออกจากงานประจำที่เคยทำ อีกหนึ่ง…เพราะไม่อาจจะใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ทั้งเมืองหลวงและเมืองใหญ่ ที่มีต้นทุนชีวิตสูง แถมยังเสี่ยงจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อีก
คงต้องวัดใจคนชื่อ “ทศพร ศิริสัมพันธ์” ทั้งในฐานะ…เลขาธิการสภาพัฒน์ และประธานคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ว่าจะเบี่ยงเบนเป้าหมายจาก “โจทย์เดิม” ที่เคยได้รับจากอดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ในวันที่ไม่มีเขาอยู่…หรือไม่? อย่างไร?
จะให้หรือตัดใคร? ออกไป ก็คงไม่เป็นไร? ขอเพียงการตัดสินใจ…ยืนอยู่บนหลักการและเหตุผลที่สอดรับกับเป้าหมายและนโยบายของรัฐบาล ในการ “เพิ่มการจ้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มคุณภาพชีวิต” ของแรงงานที่หนีตายและตกงานจากเมืองใหญ่…กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดในต่างจังหวัด เท่านั้นพอ
แค่นี้…ทำกันได้ไหม!!?.