เกษตรกรยืนยันราคาหมูหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาท
เกษตรกรยืนยันราคาหมูหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาท โอดเลี้ยงหมูขาดทุนสะสม 3 ปี ย้ำดูแลผู้บริโภคตามที่สัญญากับพาณิชย์ วอนเห็นใจมีอาชีพเดียว ขอปล่อยตามกลไกตลาดก่อนเจ๊ง
นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยถึงสถานการณ์สุกรในปัจจุบันว่า ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มของเกษตรกรทั่วประเทศยังคงยืนราคาที่ 78-79 บาทต่อกิโลกรัม ตามที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศราคาแนะนำ โดยเกษตรกรภาคเหนือยืนยันให้ความร่วมมือรักษาระดับราคาสุกรขุนไม่ให้เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม ตามที่ให้สัญญากับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ไว้ว่าจะร่วมกันดูแลพี่น้องประชาชนไม่ให้มีปัญหาขาดแคลนสุกร และไม่ให้ราคาสูงจนกระทบค่าครองชีพประชาชน โดยระดับราคาดังกล่าวถือว่าเกษตรกรพอมีรายได้กลับมาต่อทุนเพื่อเลี้ยงสุกรในรุ่นถัดไปเท่านั้น ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงสุกรยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ต่างปรับตัวขึ้น ตามความต้องการใช้ที่เพิ่ม ที่สำคัญเกษตรกรทั้งประเทศยังต้องต่อสู้กับ โรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในสุกร ทำให้มีต้นทุนการป้องกันและเฝ้าระวังโรคเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่าปัจจุบันการบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะห้างร้านต่างๆที่กลับมาเปิดดำเนินการ ผนวกกับโรงเรียนเปิดเทอม ขณะที่ปริมาณผลผลิตหมูขุนออกสู่ตลาดน้อยลง หมูเป็นที่จับมีขนาดเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ เน้นย้ำให้กลุ่มผู้เลี้ยงรักษาระดับราคาภายในประเทศเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน แม้ว่าเกษตรกรจะมีต้นทุนการเลี้ยงหมูสูงถึง 71 บาทแล้วก็ตาม แต่ทุกคนก็พร้อมตรึงราคาหมูหน้าฟาร์มไว้ที่ไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม
“หมูไทยราคาไม่ได้สูงไปกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศที่ต้องรับมือกับโรค ASF ที่ระบาดอย่างหนักอย่างจีน เวียดนาม เมียนมา ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากการขาดแคลนหมูอย่างหนัก เพราะภาวะโรค ช่วงนี้ที่ราคาหมูขยับขึ้นตามกลไกตลาด ขอให้ประชาชนเข้าใจและเห็นใจเกษตรกรที่ต้องเผชิญปัญหาราคาหมูตกต่ำจากผลผลิตล้นตลาดนานกว่า 3 ปี ทำให้ต้องแบกรับภาระขาดทุนสะสมตลอดระยะเวลาดังกล่าว หากเห็นว่าหมูมีราคาสูง ทุกท่านยังมีทางเลือกรับประทานโปรตีนอื่นๆทดแทนได้ ทั้งปลา ไข่ ไก่ แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมีอาชีพเลี้ยงสุกรในการหล่อเลี้ยงชีวิต หากถูกควบคุมมากจนเกินไปเกษตรกรอาจไม่สามารถไปต่อในอาชีพนี้ได้”นายสุนทราภรณ์ กล่าว
ด้าน นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า เกษตรกรทั่วประเทศยืนหยัดให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน ดูแลราคาหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาท มาโดยตลอดเพื่อให้ราคาขายหมูหน้าเขียงไม่เกิน 160 บาทต่อกิโลกรัม เป็นการดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยราคาเป็นไปตามกลไกตลาด จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น เหมือนกับทุกประเทศในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตามราคาหมูไทยยังคงถูกที่สุดในภูมิภาคนี้ ที่สำคัญเกษตรกรวอนขอความเห็นใจ เพราะมีอาชีพเดียวไม่สามารถเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นได้ ขณะที่ผู้บริโภคมีทางเลือกในการรับประทานโปรตีนอื่นๆทดแทนได้ ทั้งไก่ ไข่ ปลา รวมถึงอาหารธรรมชาติที่ออกมามากในช่วงนี้
“เกษตรกรทุกคนยังคงดูแลผู้บริโภคตามที่สัญญากับกรมการค้าภายใน ราคาหมูปัจจุบันนี้เพียงแค่เกษตรกรพออยู่ได้ โดยเพิ่งจะขายได้ราคานี้ หลังจากแบกรับภาระขาดทุนสะสมมาตลอด จากภาวะหมูล้นตลาดและราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น เกษตรกรยืนราคานี้ไว้ไม่กระทบกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคจนเกินไป ยืนยันว่าปริมาณหมูมีเพียงพอกับการบริโภคในประเทศ ผู้บริโภคไม่ต้องกังวล การปรับราคานี้สะท้อนกลไกตลาดที่แท้จริง นับว่าเป็นราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ สมาคมฯได้ผนึกกำลังกับสมาชิก จัดกิจกรรมจำหน่ายหมูสดลดค่าครองชีพประชาชนทั่วไทย ส่งตรงจากฟาร์มถึงมือผู้บริโภคไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง นำร่องที่จังหวัดชลบุรีก่อนเป็นที่แรก ในวันที่ 21 กรกฎาคม และขายพร้อมกันทุกภูมิภาค วันที่ 7 สิงหาคม” นายสุรชัย กล่าว
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีความวิตกกังวลเรื่องโรค ASF ในสุกร ที่ระบาดในหลายประเทศ เกษตรกรทุกคนต่างเข้าเลี้ยงสุกรอย่างระมัดระวัง พบว่าสุกรในระบบของไทยหายไปกว่า 20% จากเดิมในปี 2562 ไทยที่มีสุกรในระบบประมาณ 20,000,000 ตัว ที่สำคัญเกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น จากการเฝ้าระวังและป้องกัน ASF อย่างเข้มงวด ทำให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายเพิ่มถึงตัวละ 100 บาท แต่ทุกคนยินดีดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้มาทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร และเกษตรกรผู้เพาะปลูกในห่วงโซ่การผลิต ทั้งยังเป็นการปกป้องผู้บริโภคไม่ให้ต้องได้รับความเดือดร้อนเหมือนกับประเทศอื่นในภูมิภาค.