ธนารักษ์เร่งสำรวจอนุรักษ์บ้านเก่าทรงคุณค่า

“ยุทธนา” สั่งธนารักษ์พื้นที่ทั่วประเทศ และกองบริหารที่ราชพัสดุกรุงเทพฯ เร่งสำรวจพร้อมจัดทำข้อมูลอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในที่ราชพัสดุ หวังอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติของชาติ ตั้งเป้าต้องจบในสิ้น ส.ค.63 เผยพบที่ยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ฯ รวม 66 หลังแล้ว

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 สภาผู้แทนราษฎร ให้กรมธนารักษ์ดำเนินการเกี่ยวกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ ว่า กรมธนารักษ์ตระหนักและเห็นความสำคัญของอาคารราชพัสดุดังกล่าว จึงกำหนดให้การดำเนินการเกี่ยวกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ เป็นโครงการสำคัญของกรมธนารักษ์ในปีงบประมาณ 2563 และดำเนินการต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2564
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอาคารที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ซึ่งได้ปรากฏเป็นข่าวผ่านทางสื่อต่างๆ กรณีที่มีการรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุนั้น จึงได้สั่งการให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และกองบริหารที่ราชพัสดุกรุงเทพมหานคร เร่งรัดดำเนินการ สำรวจ ตรวจสอบ จัดทำฐานข้อมูลอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรมหรือสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้

โดยจากการที่กรมธนารักษ์ได้ดูแลอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรมหรือสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ จำนวน 66 หลัง เช่น บ้านขุนพิทักษ์บริหาร จ.พระนครศรีอยุธยา และบ้านหลุยส์ จ.ลำปาง เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมธนารักษ์จะแจ้งให้หน่วยงานผู้ครอบครอง ใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุปัจจุบันร่วมดำเนินการ สำรวจ ตรวจสอบอาคารดังกล่าว เพื่อตระหนักในคุณค่าของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ โดยก่อนการรื้อถอนซ่อมแซม ปรับปรุงแก้ไขหรือดำเนินการอื่นใดกับอาคารดังกล่าวให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ต่อไป.