ครม.อนุมัติ 1 แสนล. ฟื้นฟูเศรษฐกิจเฟสแรก
“ครม.ลุงตู่” ไฟเขียวหลักการแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจเฟสแรก วงเงิน 1 แสนล้านบาท โฟกัสการจ้างงาน ทั้งภาคการเกษตรและเอสเอ็มอี หวังสร้างความเข้มแข็งสู้พิษโควิด-19 ก่อนลุยต่อในเฟส 2 ด้าน “รองโฆษกรัฐบาล” เผย 5 โครงการย่อยนำร่อง ที่รัฐบาลอนุมัติในรอบนี้ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท หวังสร้างงานไม่ต่ำกว่า 1.8 หมื่นคน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2563 ว่า ที่ประชุมฯได้พิจารณาอนุมัติหลักการแผนงานโครงการฟื้นฟูหลังโควิด-19 ระยะที่ 1 วงเงิน 1 แสนล้านบาท จากงบเต็ม 4 แสนล้านบาท ที่มาจากโครงการเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยเน้นหนักเรื่องการจ้างงาน โดยเฉพาะภาคการเกษตร อาทิ การพัฒนาแหล่งน้ำ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในช่วงนี้ จากนั้น ต้องเตรียมการฟื้นฟูระยะ 2 ต่อไป
“สิ่งสำคัญที่สุด คือการจ้างงาน เนื่องจากธุรกิจบางประเภทไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น การส่งออก เพราะความต้องการของต่างประเทศลดลง ผลจากสถานการณ์โควิด-19 โดยได้เร่งรัดเรื่องส่งออกผลไม้ ทั้งทางบก ทางเรือ และพัฒนาด่านชายแดนในการขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่รัฐบาลต้องปรับกลไกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะไม่ได้มีแต่ประเทศไทยได้รับผลกระทบ แต่ได้รับผลกระทบทั่วโลก” นายกรัฐมนตรี กล่าวและว่า
ไทยต้องเร่งรัดการใช้จ่ายในประเทศให้มากขึ้น จึงขอฝากถึงประชาชนที่มีฐานะดีให้ช่วยกันใช้จ่าย รวมถึงให้ทุกหน่วยงานทำแผนงานการจ้างงาน หากงบไม่เพียงพอ รัฐบาลจะเติมเงินให้ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น โครงการบวร คือ บ้าน วัด โรงเรียน พร้อมขอให้ธุรกิจ SMEs ระมัดระวังปัญหาหนี้ NPL ในอนาคต ซึ่งรัฐบาลจะหามาตรการที่เหมาะสมในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบผลการพิจารณาของ คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) เพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จำนวน 5 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย
1.โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 9,800 ล้านบาท เป็นการฝึกอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ และการเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำสำหรับทำการเกษตร คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 4.4 หมื่นราย เพิ่มการจ้างงานเกษตร 8,010 ราย มีพื้นที่กักเก็บน้ำสำหรับทำการเกษตรในฤดูแล้งเพิ่มขึ้น
2.โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 4,700 ล้านบาท โดยจะพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงาน บัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่น คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและประชาชน 2.51 หมื่นครัวเรือน เพิ่มการจ้างงานเกษตรกร 6,490 ราย เพิ่มพื้นที่ปลูกป่าไม่น้อยกว่า 2.57 หมื่นไร่
3.โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 169.88 ล้านบาท โดยจะฝึกอบรมสมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ให้มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมในการตรวจวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ย รวมทั้งขยายผลไปยังพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มการจ้างงานในธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชนราว 2,360 พันคน ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีในพืชเศรษฐกิจต่างๆ ไม่น้อยกว่า 20% หรือประมาณ 1.8 หมื่นตัน คิดเป็นวงเงิน253 ล้านบาท
4.โครงการพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว (Safety Zone) ของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วงเงิน 15 ล้านบาท นำมาสร้างต้นแบบพื้นที่ท่องเที่ยวให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว 5 พื้นที่ ได้แก่ ย่านเมืองเก่าน่าน หาดบางแสนชลบุรี เอเชียทีค ชุมชนบ้านไร่กองขิง เชียงใหม่ และเยาวราช รวมถึงฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยให้ผู้ประกอบการและร้านค้าต่างๆ
และ 5. โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วงเงิน 741.58 ล้านบาท โดยจะทำการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ได้มาตรฐาน การจ้างงานในชุมชนท้องถิ่นรอบพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า 1,250 คน เพื่อให้ความรู้ในแหล่งท่องเที่ยว พัฒนามาตรฐานกิจกรรมดูนก และเดินป่าในพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า คาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงคุณภาพเพื่อการเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า ทำให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นโดยรอบ เช่น ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยว (มัคคุเทศก์) 1,250 คน ผู้ประกอบการก่อสร้างในท้องถิ่น 125 ราย
อนึ่ง รวมการจ้างงานทั้ง 5 โครงการไม่ต่ำกว่า 18,110 คน.