โควิดฯฉุดพิโกไฟแนนซ์ พ.ค.ไม่กระเตื้อง
วิกฤตโควิด-19 ยังคงสร้างอาการตึงตัวของธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เผยยอดขอเปิดธุรกิจใหม่เดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าแค่ 5 ราย สรุปยอดรวมตั้งแต่ ธ.ค.59 นครราชสียังคงนำโด่งมีสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์มากถึง 112 ราย ตามมาด้วยกรุงเทพฯ 109 ราย โดยที่ขอนแก่น ทิ้งห่างจากอันดับที่ 2 ถึงเกือบเท่าตัว
“แม้การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด – 19 จะได้ลดความรุนแรงลงไปบ้างแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ในเดือน พ.ค.2563 ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดือนเมษายน 2563มากนัก” นั่นคือคำยืนยันจาก “โฆษก สศค.” นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก่อนจะย้ำว่า ในเดือนดังกล่าวมีจำนวนผู้สนใจยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิ 1,199 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. เพียง 5 ราย ประกอบด้วย ผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ 1,042 รายและผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโก พลัส 157 ราย และมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 จนถึง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2563 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสรวม 1,335 ราย ใน 76 จังหวัด (จังหวัดที่ยังไม่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อ ได้แก่ จังหวัดอ่างทอง) โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (112 ราย) กรุงเทพมหานคร (109 ราย) และขอนแก่น (66 ราย) ตามลำดับอย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีจำนวนนิติบุคคลที่แจ้งคืนคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์รวมทั้งสิ้น 136 ราย ใน 53 จังหวัด จึงคงเหลือจำนวนนิติบุคคล ที่ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสุทธิ 1,199 ราย ใน 75 จังหวัด และมีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสุทธิ 891 ราย ใน 73 จังหวัด (ขอคืนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์จำนวน 21 ราย และขอเปลี่ยนใบอนุญาต ให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เป็นประเภทพิโกพลัส จำนวน 46 ราย)
ทั้งนี้ มีจำนวน ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท ที่แจ้งเปิดดำเนินการแล้ว 749 ราย ใน 71 จังหวัด และมีรายละเอียด ดังนี้
(1) สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 1,042 ราย ใน 75 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 5 ราย จากเดือนเมษายน 2563) โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (96 ราย) นครราชสีมา (94 ราย) และขอนแก่น (62 ราย) ตามลำดับ โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สุทธิทั้งสิ้น 815 ราย ใน 73 จังหวัด และมีผู้เปิดดำเนินการแล้ว 699 ราย ใน 71 จังหวัด (ทั้งนี้ เดือน พ.ค.2563 มีจำนวนผู้เปิดดำเนินการให้บริการสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ที่เปลี่ยนเป็นการให้บริการสินเชื่อประเภทพิโกพลัส 2 ราย)
(2) สินเชื่อประเภทพิโกพลัส มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 157 ราย ใน 54 จังหวัด ประกอบด้วยนิติบุคคลที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เดิมและเปิดดำเนินการแล้วมายื่นขอเปลี่ยนใบคำขออนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสจำนวน 83 ราย ใน 38 จังหวัด และเป็นนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตใหม่จำนวน 74 ราย ใน 29 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่น คำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (18 ราย) กรุงเทพฯ(13 ราย) และอุบลราชธานี (10 ราย) และมีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัส 76 ราย ใน 29 จังหวัด (เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย. 2563 จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ราชบุรี และนครศรีธรรมราช) และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 50 ราย ใน 25 จังหวัด (เพิ่มขึ้นจากเดือนเ เม.ย. 2563 จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี กาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร และนครศรีธรรมราช)
(3) ยอดสินเชื่ออนุมัติสะสมและยอดสินเชื่อคงค้างสะสม
(3.1) ณ สิ้นเดือนเมษายน 2563 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 254,890 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 6,745.02 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 26,462.47 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 125,773 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,589.15 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 53.21ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 129,117 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,155.87 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.79 ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม เพิ่มขึ้นจากยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม ณ สิ้นเดือน มี.ค.2563 เพียงร้อยละ 2.35 ซึ่งเหตุผลหลักอาจเนื่องมาจากผู้ประกอบการยังคงมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงของการเพิ่มขึ้นของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม
(3.2) ณ สิ้นเดือนเมษายน 2563 มียอดสินเชื่อคงค้างสะสมรวมจำนวนทั้งสิ้น 105,689 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 2,591.32 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1 – 3 เดือน สะสมรวมจำนวน 15,708 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 394.61 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.23 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 14,928 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 399.44 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.41 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม เพิ่มขึ้นจากยอดสะสม ณ สิ้นเดือน มี.ค.2563 ที่มียอด NPL อยู่ที่ร้อยละ 13.06
การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย ในเดือน พ.ค. 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) เพื่อปราบปรามและดำเนินคดีในเชิงรุกอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่มีพฤติการณ์ให้ประชาชนกู้ยืมเงินโดยผิดกฎหมาย เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การทวงถามหนี้โดยผิดกฎหมาย การกู้ยืมเงินที่มีลักษณะฉ้อโกงประชาชน สำหรับผลการดำเนินการจับกุมเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำความผิดของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 จนถึงสิ้นเดือน เม.ย.2563 มีจำนวนสะสมรวมทั้งสิ้น 5,512 คน
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องใน 5 มิติ ได้แก่ (1) ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย (2) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ (3) ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ย (4) เพิ่มศักยภาพลูกหนี้นอกระบบ และ (5) สนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยองค์กรการเงินชุมชน ซึ่งประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการได้ทางเว็บไซต์ www.1359.go.th และสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมายได้โดยตรงที่
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599, ศปน.ตร. โทร. 0 2255 1898, ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์การกู้ยืมเงินโดยสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1155, ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567, ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359 และศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) โทร. 0 2575 3344.