สัปดาห์นี้ใช้แน่! กม.อุ้มธุรกิจบาปยกแผง
“อธิบดีสรรพสามิต” ยืนยัน! ภายในสัปดาห์นี้ พร้อมประกาศใช้ “2 กฎกระทรวง + 7 ประกาศกรมฯ” ช่วยเหลือเยียวยา “ธุรกิจบาป-อื่นๆ” รวม 5 กลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 ย้ำ! เน้น คงการจ้างงานไม่น้อยกว่าก่อนเกิดวิกฤตไวรัสแพร่ระบาด
โจทย์ใหญ่ของโลกและของไทยยามนี้ คือ ปัญหาการจ้างงาน
เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มาประชุมหารือที่กระทรวงการคลัง เพื่อประเมินสถานการณ์ พร้อมกับให้ “การบ้าน” ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น…สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. )หรือสภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงองค์กรภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น…สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย ภาคธุรกิจประกันภัย ฯลฯ
เป้าหมายคือ…ทำอย่างไรจึงจะลดทอนปัญหาการจ้างงานที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งภายในและนอกประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมถึง “ต้นทาง” ที่จะไม่สร้างปัญหาการจ้างงาน จนลุกลามและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ต้องให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็น…เงินทุนหมุนเวียน หรือทุนดำเนินงานแก่ภาคธุรกิจเอกชน
สภาพัฒน์ กระทรวงการคลังและหน่วยงานในกำกับดูแล ธปท. แม้กระทั่ง สำนักงาน ก.ล.ต. รวมถึงสมาคมธนาคารไทย ต่างได้รับโจทย์กันไป แล้วในช่วงกลางเดือน ก.ค.นี้ ทุกหน่วยงานจะต้องกลับประชุมร่วมกับนายสมคิด เพื่อส่ง “การบ้าน” ที่ได้รับกันไป
เป้าหมายปลายทางเดียวกันคือ ลดปัญหาการจ้าง ที่มีสัญญาณไม่สู้ดี เพราะแค่ช่วงต้นของปัญหาโควิด-19 ยังพบตัวเลขการเลิกจ้างงานไปแล้วกว่า 2 ล้านคน และหากภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ร่วมมือกัน “สกัดปัญหาตั้งแต่ต้นทาง” อาจลุกลามจนทำให้มีคนว่างงานตามมาอีกไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน
ล่าสุด เป็น นายอุตตม สาวยายน รมว. ที่ขยับตัว “นำร่อง” อย่างแรง ชนิด! ไม่สนใจปัญหาการเมืองใดๆ แต่ยึดโยงคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่บอกให้ “ก้มหน้าก้มตา” ทำงานในความรับผิดชอบต่อไป โดยสั่งการให้ กรมสรรพสามิต ออกมาตรการเยียวยาฟื้นฟูและอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
โดยเฉพาะในกลุ่ม “ธุรกิจบาป” และสินค้าอื่นๆ ในความรับผิดชอบกรมสรรพสามิต
เหตุผลที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.คลัง บอกกับสังคมไทย ก็คือ เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างแพร่หลายเป็นวงกว้าง รวมทั้งมีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยและทั่วโลก ทั้งทางตรงและทางอ้อม กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก สถานประกอบการจำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราวและถาวร กระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ การจ้างงาน ภาคการเกษตร และภาคการส่งออก
โดย ผู้ประกอบอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตได้ดำเนินมาตราการที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในบางสินค้าเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย…
1.รถยนต์ (ประเภทรถยนต์นั่งสามล้อแบบพลังงานไฟฟ้า) เพิ่มพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งสามล้อแบบพลังงานไฟฟ้า เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์นั่งสามล้อที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและการจ้างงาน รวมถึงส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โดยกำหนดให้เสียภาษีตามมูลค่าร้อยละ 2 (จากเดิมร้อยละ 4)
2.เครื่องดื่มน้ำผลไม้และน้ำพืชผักที่มีการเติมสารอาหารและสารอื่น แก้ไขอัตราส่วนผสมของน้ำผลไม้และน้ำพืชผักที่มีการเติมสารอาหารหรือสารอื่นจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 10 เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่ม โดยคำนึงถึงนวัตกรรมในปัจจุบัน และผู้บริโภคมีทางเลือกในการบริโภคสินค้าเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
3.สนับสนุนให้สถานบริการคงปริมาณการจ้างงาน เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างไม่ให้ตกงาน สถานบริการที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีปริมาณการจ้างงานเท่ากับก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะได้รับสิทธิเสียภาษีอัตราตามมูลค่าร้อยละ 0 ของรายรับของบริการจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าว
4.ขยายเวลาการบังคับใช้อัตราภาษีปัจจุบันของบุหรี่ซิกาแรตและยาเส้นออกไปถึงวันที่ 30 ก.ย.2564 และเลื่อนการบังคับใช้อัตราภาษีใหม่ของบุหรี่ซิกาแรตและยาเส้นออกไป โดยให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบและยาเส้น และเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบและยาเส้น ได้รับการเยียวยาจากปัญหาการขาดสภาพคล่องที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว
และ 5.ขยายเวลาในการส่งสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีออกนอกราชอาณาจักร หรือนำเข้าไปในเขตปลอดอากร จากเดิมภายใน 15 วัน และขยายได้อีก 15 วันรวมทั้งหมดไม่เกิน 30 วัน เปลี่ยนเป็นภายใน 30 วันและขยายได้อีก 30 วันรวมถึงขยายได้หากมีความจำเป็นอีก 60 วัน รวมทั้งหมดไม่เกิน 120 วัน และขยายเวลาในการส่งเอกสารหลักฐานจากเดิมภายใน 60 วันและขยายได้อีก 60 วันรวมทั้งหมดไม่เกิน 120 วันเปลี่ยนเป็นภายใน 90 วันและขยายได้หากมีความจำเป็นอีก 60 วันรวมทั้งหมดไม่เกิน 150 วัน
ด้าน นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทยฯ ทางสถานีโทรทัศน์ MCOT HD 30 เมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า กรมฯได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการออกร่างกฎกระทรวงการคลั 2 ฉบับ ซึ่ง รมว.คลังได้ลงนามไปแล้ว และรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้กฎกระทรวงฯดังกล่าว เพื่อลดภาระภาษีช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้ภายในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ ยังมีประกาศกรมสรรพสามิตอีก 7 ฉบับ เพื่อให้ครอบคลุมมาตรการเยียวยาฟื้นฟูและอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19
“มีการปรับเปลี่ยนร่างกฎหมายจากตอนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพราะในชั้นของกฤษฎีกา ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในส่วนของร่างกฎกระทรวงบางอย่าง โดยจัดทำเป็นประกาศกรมสรรพสามิตออกเป็น 7 ฉบับ ภายใต้กรอบของกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ” นายพัชร ระบุและว่า ในส่วนของ 2 ร่างกฎกระทรวง จะประกอบด้วย 1.กฎกระทรวงการกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยเป็นการกำหนดรายละเอียดของอัตราภาษีที่ครอบคลุมมาตรการข้างต้นทั้ง 5 กลุ่ม และ 2.กฎกระทรวงการยกเว้นหรือรับคืนภาษีสำหรับสินค้าที่ส่งออกนอกราชอาณาจักร หรือนำเข้ามาในเขตปลอดอากร สำหรับสินค้าที่ผู้ประกอบการหรือผู้นำเข้ามีสิทธิ์รับคืนหรือยกเว้นภาษี
ทั้งนี้ จะมุ่งเน้นไปยังกิจการที่ต้องมีการจ้างงานและปฏิบัติตามเงื่อนที่ภาครัฐกำหนด จึงจะได้รับสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีในอัตราที่กำหนดใหม่นี้.