คปภ.นำระบบประกันฯช่วยเกษตรกรอีสาน
คปภ.ตบเท้าลุยภาคอีสาน เลือก จ.กาฬสินธุ์ นำร่องถ่ายทอดความรู้ “เกษตรกร – Trainers” พ่วงถอดบทเรียนผลกระทบจากภัยธรรมชาติ นำระบบประกันภัยบริหารความเสี่ยงให้เกษตรกร เผยระดับค่าเฉลี่ยทำประกันภัยข้าวฯยังต่ำเกณฑ์ หรือแค่ 49.41% ขณะที่มีพื้นที่ปลูกข้าวมากถึงเกือบ 1.5 ล้านไร่
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการคปภ.) มอบหมายให้นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการด้านกฏหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ พร้อมด้วยคณะวิทยากรด้านประกันภัย ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2563 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยโครงการประกันภัยข้าวนาปี กำหนดพื้นที่เป้าหมายสูงสุด 45.7 ล้านไร่ ภาครัฐให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย 2,910.39 ล้านบาท ส่วนโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 3 ล้านไร่ วงเงินให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 313.98 ล้านบาท
นายชนะพล กล่าวว่า การลงพื้นที่เพื่อพบปะเกษตรกรและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านโครงการอบรมความรู้ประกันภัยในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ นับเป็นครั้งที่ 4 ของโครงการฯ ในปีนี้ (เพชรบุรี ราชบุรี ตาก กาฬสินธุ์ และ พัทลุง) ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลด้านเกษตรกรรมของ จ.กาฬสินธุ์ พบว่า ในปีที่ผ่านมา มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี 1,484,224 ไร่ เป็นอันดับ 14 ของประเทศ โดยมีการทำประกันภัยข้าวนาปี 733,311 ไร่ คิดเป็น 49.41% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยของอัตราการทำประกันภัยทั้งประเทศ อยู่ที่ 49.79% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั่วประเทศ ที่มี 57,086,460 ไร่ สำนักงาน คปภ. จึงเลือกจ.กาฬสินธุ์ ในการลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ด้านประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรได้รับความรู้ความเข้าใจและใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงอย่างทั่วถึง
โดยเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. คณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. คณะผู้บริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย และคณะวิทยากร ได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร ณ หอประชุมที่ว่าการ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการฯ และรับทราบถึงสภาพปัญหา อุปสรรค ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะของการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเกษตรกรได้มีการสะท้อนปัญหา เช่น พื้นที่เพาะปลูกที่เคยได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติแล้ว จะทำประกันได้อีกหรือไม่ หรือจะมีการประกันภัยสำหรับพืชชนิดอื่นๆ หรือไม่ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา เป็นต้น หรือ มีการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองการเลี้ยงสัตว์น้ำจืดหรือไม่ เช่น กุ้งก้ามกราม ปลานิล เป็นต้น ซึ่งรองเลขาธิการ คปภ. และคณะฯ ได้ตอบข้อสงสัยต่างๆ จนเป็นที่เข้าใจของเกษตรกร รวมทั้งจะนำข้อมูลที่ได้จากเกษตรกรไปปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ ให้ดียิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไป
ส่วนวันที่ 30 มิ.ย.เป็นการจัดอบรมความรู้ด้านการประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อให้แก่เกษตรกร ตามโครงการอบรมความรู้ประกันภัย สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ หอประชุมจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีนายชัยธวัช เนียมศิริ ผจว.กาฬสินธุ์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม และกล่าวขอบคุณ สำนักงาน คปภ. ที่เลือกจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นสถานที่ในการจัดอบรมและลงพื้นที่พบปะเกษตรกรในปีนี้ พร้อมกล่าวว่า ข้าว ถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดกาฬสินธุ์ แม้ว่าจังหวัดจะมีศักยภาพด้านแหล่งน้ำทางเกษตร แต่การเพาะปลูกข้าวนาปีก็ประสบปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติ (น้ำท่วม และภัยแล้ง เมื่อปี 2562) เช่นกัน ดังนั้น การอบรมให้ความรู้ด้านประกันภัยในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกรในจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่จะสามารถนำระบบประกันภัยมาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด อันจะช่วยให้ภาคเกษตรกรรมของจังหวัดมีการเติบโตอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดที่ว่า “มั่งคั่งด้วยเกษตรปลอดภัย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
รองเลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การประกันภัยข้าวนาปี ในปีนี้มีความพิเศษที่รูปแบบกรมธรรม์ประกันภัย มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งกลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. อัตราเบี้ยประกันภัย (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในส่วนความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 97 บาทต่อไร่ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุนอีก 39 บาทต่อไร่ ดังนั้นเกษตรกรในกลุ่มนี้จะได้รับประกันภัยฟรี ส่วนเกษตรกรทั่วไปและเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่ต้องการซื้อประกันภัยเพิ่ม จะจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ (พื้นที่สีเขียว) จ่ายเบี้ยประกันภัย 58 บาทต่อไร่ รัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ทั้งหมด
ฉะนั้น เกษตรกรในพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ (พื้นที่สีเขียว) ได้รับประกันภัยฟรี ส่วนพื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง (พื้นที่สีเหลือง) จ่ายเบี้ยประกันภัย 210 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่ายเบี้ยประกันภัยเอง 152 บาทต่อไร่ และพื้นที่ความเสี่ยงสูง (พื้นที่สีแดง) จ่ายเบี้ยประกันภัย 230 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่ เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยเอง 172 บาทต่อไร่ โดยกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีจะให้ความคุ้มครองจากภัยน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยจากช้างป่า รวมถึงความคุ้มครองจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด
“การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปีนี้ได้กำหนดหลักการให้เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของ ธ.ก.ส. และเกษตรกรทั่วไป ได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัย เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2562 โดยกำหนดค่าเบี้ยประกันภัยแบบอัตราเดียวอยู่ที่ 160 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยรัฐบาลช่วยอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 96 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุนค่าเบี้ยประกัน 64 บาท ต่อไร่ ดังนั้น ลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส. จะได้รับประกันภัยฟรี” นายชนะพล ย้ำ.