ห่วงปมว่างงาน เร่งแก้ “ต้นทาง” สกัดธุรกิจล้ม!
“สมคิด” ห่วงปัญหาว่างงานขยายวงกว้าง จี้สภาพัฒน์เร่งพิจารณาข้อเสนอโครงการขอรับเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท เน้นโครงการจ้างงานและพัฒนาท้องถิ่น สั่ง “สรรพากร-สศค.” ผุดมาตรการจูงใจดึงคนไทยเที่ยวท้องถิ่นไทย และกระตุ้นคนรวยใช้จ่ายกระจายเม็ดเงินสู่ชุมชน ตั้งเป้าขอตรวจงานช่วงกลาง ก.ค.นี้ เผย! ภาครัฐ-เอกชนร่วมบูรณาการแก้ผลกระทบพิษโควิดฯ เริ่มจาก“ต้นทาง” พร้อมมอบแบงก์ชาติ เซ็ทกลไกใหม่รองรับกลุ่มผิดเงื่อนไข พ.ร.ก.กู้เงินฯด่วน!
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง รวมถึงผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และภาคภาคธุรกิจอื่นๆ เป็นต้น เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมวายุภักดิ์ 4 กระทรวงการคลัง
นายสมคิด กล่าวหลังการประชุมฯว่า มาเพื่อติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เคยให้การบ้านไปก่อนหน้านี้ เพราะเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ภาครัฐจำเป็นจะต้องออกมาตรการมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจะต้องมาแก้ไขปัญหาให้กับทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการภาคเอกชน หรือประชาชนผู้ใช้แรงงาน ที่บางส่วนได้กลับไปอยู่ท้องถิ่นเพราะถูกเลิกจ้างงานแล้ว ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากไวรัสโควิดฯคือปัญหาการจ้างงาน เฉพาะในสหรัฐฯมีตัวเลขการว่างงานจากผลกระทบของปัญหาโควิดฯมากถึง 25-30 ล้านคน ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านก็มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเดียวกัน ดังนั้น จึงต้องเตรียมการแก้ไขปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ
“เราต้องพยายามช่วยเหลือประคับประคองเพื่อไม่เกิดปัญหาการว่างงานมากนัก ซึ่งปัญหาดังกล่าวมาจากช่วงที่ไวรัสโควิดฯกำลังระบาด ทำให้โรงงานหลายแห่งปิดกิจการ อีกช่วงหนึ่งเป็นช่วงที่ทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย แต่ภาวการณ์ว่างงานยังไม่เกิด และเราไม่ต้องการให้เกิดจึงต้องเตรียมการป้องกัน เพื่อไม่ให้ภาคธุรกิจต้องหยุดกิจการ หรือชะงัก ด้วยการสร้างอุปสรรคในตลาดให้กับภาคธุรกิจเหล่านี้ โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ส่วนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ขณะนี้ รอดูว่าทาง สบค.จะอนุญาตให้เข้าอย่างไร เท่าไหร่ แต่ตอนนี้ต้องเน้นเรื่องการท่องเที่ยวในประเทศ และขณะนี้เริ่มมีการเดินทางท่องเที่ยวในบางพื้นที่กันแล้ว แต่ยังมีอีกหลายจุดที่ยังไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่น จึงมอบให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปดูแล เพื่อออกมาตรการสร้างแรงจูงใจให้คนได้ไปท่องเที่ยวในระท้องถิ่นให้มากขึ้น” รองนายกฯสมคิด ระบุและว่า ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้ทางกรมสรรพากร ไปคิดมาตรการกระตุ้นการบริโภคในช่วงเวลาอย่างนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนระดับบนที่มีอำนาจการซื้อสูง เพื่อให้เม็ดเงินกระจายไปสู่พี่น้องประชาชนในระดับชุมชนต่อไป โดยขอให้ทั้ง 2 หน่วยงานเร่งดำเนินการภายในกลางเดือนนี้
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ได้เข้าไปดูแลและเร่งรัดงบประมาณเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ออกมาให้เร็วและตรงกับเป้าหมายคือ เน้นโครงการที่จ้างงานและพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็งมากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการส่งเสริมไปบ้างแล้ว ขณะเดียวกัน ทางสภาพัฒน์เองก็มีโครงการใหญ่ของตัวเอง ที่เน้นการพัฒนาพื้นฐานที่เข้มแข็งให้กับท้องถิ่นเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะโครงการอื่นๆ ก็สามารถจะไปเชื่อมกับโครงการของสภาพัฒน์ได้
อีกปัญหาที่หนักอกรัฐบาลและสถาบันการเงินภาคเอกชน นั่นคือ “หนี้เสีย” (เอ็นพีแอล) เรื่องนี้ นายสมคิด ย้ำว่า ไม่ใช่ความผิดของผู้ประกอบการที่เกิดปัญหาเอ็นพีแอล เพราะไม่มีคาดคิดว่าทั่วโลกจะประสบปัญหาโควิดฯ จึงจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการเหล่านี้ ก่อนที่พวกเขาจะปิดกิจการและเลิกจ้างงานในที่สุด ด้วยการหยุดปัญหาที่ต้นทาง ซึ่งขณะนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาและขนาดย่อม (สสว.) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการกองทุนคนตัวเล็ก เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและเงินทุนบางส่วนให้แก่ธุรกิจเหล่านี้ เพื่อให้แข็งแรงก่อนจะไปขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินอื่นๆ ต่อไป โดย สสว.ได้ร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารอื่นๆ คาดว่าเรื่องดังกล่าวจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า
“มีบางกลุ่มที่จำเป็นต้องขอเงินกู้มากกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไป แต่เข้าช่องไหนไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็น สสว. หรือไปทางแบงก์ชาติ โดยเฉพาะพวกอุตสาหกรรมพิเศษ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจบางอย่างที่จำเป็นต้องรักษาเอาไว้ ซึ่งเบื้องต้นได้ขอให้แบงก์ชาติได้ดูแลกลุ่มเป็นพิเศษ รวมถึงกลุ่มอื่นๆ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก ที่ไม่เข้าเงื่อนไขของ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ด้วยการเซ็ทกลไกใหม่เพื่อให้รองรับคนกลุ่มนี้เป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ ส่วนตัวคาดกลไกใหม่เหล่านี้น่าจะเป็นรูปร่างได้ภายในกลางเดือนนี้ และหากภาคการส่งออกฟื้นตัวขึ้นมาในราวปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ก็จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น” รองนายกฯสมคิด กล่าวและว่า ขณะนี้ ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างมีความพร้อมอย่างมาก และกระตือรือร้นที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหา เพราะมีบทเรียนจากปี 2540 มาแล้ว
สำหรับข้อเรียกร้องจากภาคเอกชนให้ธนาคารพาณิชย์หยุดพักชำระหนี้และดอกเบี้ยมีระยะเวลานานขึ้นนั้น ขณะนี้ กระทรวงการคลัง ธปท. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังพิจารณาและดูแลในสิ่งที่เราดูแลได้ เพื่อหยุดปัญหาที่ต้นทางไม่ใช่รอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยไปแก้ไข ทั้งหมดนี้ ตนและรมว.คลัง ได้มอบการบ้านให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปทำการบ้าน และหวังว่าจะกลับมารายได้ความคืบหน้าให้ทราบในช่วงกลางเดือน ก.ค.นี้
ด้าน นายอุตตม กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ ก.ล.ต.ไปพิจารณาเรื่องมาตรการด้านตลาดทุนและตลาดพันธบัตร โดยดึงเข้าร่วมทีมกับกระทรวงการคลัง ธปท. สมาคมธนาคารไทย ฯลฯ ที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยทีมงานนี้จะทำหน้าที่พัฒนาโครงการ/มาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นทางเช่นที่รองนายกฯสมคิด ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ส่วนความช่วยเหลือกลุ่มที่ไม่เข้าเงื่อนไขของ พ.ร.ก.เงินกู้ฯนั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของธปท. คาดว่าจะมีแนวทางความชัดเจนในช่วงกลางเดือนนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะต้องแล้วเสร็ว กระทั่ง ออกเป็นมาตรการในช่วงเวลาดังกล่าว เพียงแต่น่าจะได้เห็นความชัดเจนของแนวทางการช่วยเหลือเท่านั้น.