กกร.หั่น GDP ปี63 ติดลบ 8%
กกร. มีมติปรับลด GDP ปี 63 ลงจากเดิม -5.0 ถึง -3.0% เป็น -8.0 ถึง -5.0% ชี้ 3 ปัจจัย กระทบต่อ ส่งออก ท่องเที่ยว ฉุดเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง ยังต้องเผชิญความเสี่ยงสูง
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) มีมติปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 63 ลงจากเดิม -5.0 ถึง -3.0% เป็น -8.0 ถึง -5.0% แม้ในเดือน พ.ค.และ มิ.ย. ภาครัฐจะทยอยคลายล็อกให้กิจกรรมทาง
เศรษฐกิจกลับมาเปิดดำเนินการ แต่เครื่องชี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะหดตัวจากกำลังซื้อที่อ่อนแอของครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่งผลต่อบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศและปรับลดกรอบประมาณการการส่งออกปีนี้ จากเดิม -10.0 ถึง -5.0% เป็น -10.0 ถึง -7.0%
และปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จากเดิม -1.5 ถึง 0.0% มาที่ -1.5 ถึง -1.0% เนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศที่ยังไม่ยุติ
นอกจากนี้ กกร.ได้ร่วมหารือรับมอบนโยบาย จากรองนายกสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เรื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน SME อย่างทั่วถึง ทั้งกองทุน 50,000 ล้านบาท โดย สสว. เป็นผู้จัดตั้งกองทุน การเพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในกลุ่ม SME ซึ่งทั้งกลุ่มจะเตรียมนำเสนอ ครม. ในวันอังคารที่ 7 ก.ค. หากผ่านความเห็นชอบจาก ครม. จะสามารถดำเนินการภายในเดือนส.ค.นี้
ส่วน แนวโน้มเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง ยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากการระบาดของไวรัสโควิดในบางประเทศที่ยังรุนแรงอยู่ ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน เงินบาทที่แข็งค่า อาจยังกดดันการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด ควบคู่กับแรงขับเคลื่อนจากกลไกภาครัฐผ่านการอนุมัติแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จะเข้ามาช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี ทยอยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด อย่างไรก็ตาม การกลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิดของกิจกรรมทางเศรษฐกิจคงต้องใช้เวลา และจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องเช่นกัน.