ต่อยอดตลาดออนไลน์ขายสินค้ากองทุนหมู่บ้านฯ
สทบ.ผนึก สสว. สร้างตลาดออนไลน์สินค้ากองทุนหมู่บ้านฯ ประกาศเปิดตัว LINE “ตลาด กทบ สสว” นำร่องอุบลราชธานีเป็นจังหวัดแรก ก่อนขยายผลการดำเนินงานในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งเป้ามุ่งเน้นเจาะตลาดออนไลน์ให้กับสินค้าชุมชน สร้างรายได้เพิ่ม และเสริมศักยภาพสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ตั้งเป้าดึงของดี 770 สินค้าจาก 8 กลุ่มร่วมโครงการ หวังยอดขายปีแรกหมู่ละล้านบาท รวมเกือบ 8 หมื่นล้านบาท
นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผอ.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวระหว่างลงพื้นที่ ในพิธีการแลกเปลี่ยนสินค้าสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯจากภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ รวม 16 จ. ณ หอประชุม อบต.ท่าไห อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2563 ว่า สังคมไทยรับรู้ในกิจกรรมแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯมาตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา สิ่งนี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและขยายผลวงกว้างไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ สร้างความเชื่อมั่นต่อพี่น้องเพื่อนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯว่า จากนี้ไปพวกเขาจะมีรายได้ มีงานทำ และมีกิจกรรมที่จะช่วยลดรายจ่ายในชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ การมีรายได้จากการขายสินค้าถือเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนที่ สทบ.ต้องเร่งดำเนินการ เพราะหากสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯมีรายได้เป็นรูปธรรม การจะดำเนินงานด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การทำตลาด ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป และจะได้รับความร่วมมือจากสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯมากยิ่งขึ้น
“จากที่ได้ลงพื้นที่ในโครงการความร่วมมือเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนฯ โดยการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ทำให้สินค้าของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯเป็นที่รู้จัก และประชาชนให้ความสนใจ แต่เนื่องจากสินค้ากระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ อาจไม่สะดวกต่อการติดต่อซื้อขายกัน ดังนั้น สทบ.จึงได้จัดทำแอปพลิเคชั่น LINE “ตลาด กทบ.” รวบรวมสินค้าและบริการของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ เพื่อให้สมาชิกแต่ละกองทุนสามารถติดต่อระหว่างกันเอง เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างกันผ่านโทรศัพท์มือถือ” นายรักษ์พงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ สทบ.ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) ต่อโครงการ ด้วยการจัดทำแอปพลิเคชั่น LINE “ตลาด กทบ สสว” โดย สสว.เข้ามาช่วยเหลือในการติดอาวุธ ส่งเสริมให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯเข้าใจการเป็นผู้ประกอบการ ยกระดับให้มีเครื่องมือช่วยให้สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากองทุนหมู่บ้านฯ โดยใช้ SME Connect มาเป็นตัวระบบ line @ มี bot แยกหมวดสินค้าเพื่อสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและประชาชนที่เข้ามาเลือกซื้อสินค้าใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
“เราได้รับนโยบายจาก รองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในฐานะประธานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ให้มุ่งเน้นภารกิจที่นอกเหนือจากการเป็นสถาบันการเงินชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสินค้า การท่องเที่ยวชุมชนโดยกองทุนหมู่บ้าน และการสร้างอาชีพใหม่ สอดรับกับนโยบายเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจฐานราก” ผอ.สทบ. กล่าว
ด้านนายวีระพงศ์ มาลัย ผอ.สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสริมถึงความร่วมมือในการจัดตั้งตลาดออนไลน์ ผ่านแอพลิเคชั่นไลน์ “ตลาด กทบ สสว.” (@villagefundmarket) ว่า เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายของ 2 หน่วยงานในการยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ แบบบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยนำร่องพื้นที่แรกใน จ.อุบลราชธานี และจะขยายไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศผ่านการดำเนินงานของศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (ศูนย์ OSS) ของ สสว.
โดยสนับสนุนการสร้างแพลทฟอร์มการซื้อขายสำหรับสินค้าของสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้สามารถจำหน่ายสินค้าให้กับประชาชนโดยตรง รวมถึงสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกสื่อที่ สสว.มีอยู่ เพื่อเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้ามาเลือกซื้อเลือกหาสินค้าที่น่าสนใจภายใต้แนวคิด “สั่งตรงจากผู้ขาย ส่งตรงจากทุกหมู่บ้าน ทั่วประเทศ”
การบูรณาการความร่วมมือครั้งนี้ จะมุ่งเน้นพัฒนาสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯที่เป็นผู้ประกอบการชุมชน หรือผู้ประกอบการวิสาหกิจรายย่อย และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีจำนวนเครือข่ายสมาชิกกองทุนฯ 79,595 หมู่บ้าน โดยคัดเลือกกลุ่มสินค้าที่โดดเด่นจำนวน 10 รายการจากแต่ละจังหวัด เบื้องต้นจะมีสินค้าไม่น้อยกว่า 770 รายการจาก 77 จ. เข้าสู่ “ตลาด กทบ สสว.” ภายในเดือน ก.ค. 2563 ซึ่งหากตลาดขับเคลื่อนและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค มีรายได้หมู่บ้านละ 1 ล้านบาททก็จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 7 หมื่นล้านบาท
“ความร่วมมือดังกล่าวจะยกระดับผลิตภัณฑ์และส่งเสริมการตลาดผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ร่วมกันในการสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานราก ตามนโยบายของรัฐบาล โดยผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิก สสว. เพื่อเป็นช่องทางในการให้บริการในด้านต่างๆ เช่น การประชาสัมพันธ์ และการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการของ สสว.” นายวีระพงศ์ ย้ำ
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่กองทุนหมู่บ้านจะได้รับจากการเป็นสมาชิกของ สสว. คือ 1. ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ 2. เพิ่มศักยภาพทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมตลาดออนไลน์เป็นสำคัญ เน้นนำเสนอคุณสมบัติของสินค้า การถ่ายภาพ และการสร้างแบรนด์หรือตราสินค้าให้มีความน่าสนใจ และเปิดโอกาสให้ทดสอบตลาดผ่านแอพลิเคชั่น “ตลาด กทบ สสว.” ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำสินค้าของตนมาจำหน่ายทางออนไลน์ให้กับสมาชิกกองทุนฯ ที่ขึ้นทะเบียน ซึ่ง สสว. จะช่วยโปรโมทสินค้าและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปพร้อมๆ กัน โดยจะประกอบไปด้วย 8 หมวดสินค้า ได้แก่ 1.ข้าว 2.น้ำดื่ม 3.ผ้าและเสื้อผ้า 4.ผลไม้และอาหารแปรรูป 5.ขนมขบเคี้ยว 6.ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 7.เครื่องใช้และของตกแต่ง และ8.ผลิตภัณฑ์บำรุงดิน
“ในความร่วมมือนี้ ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (SME One-stop Service Center : OSS) ของสสว. ซึ่งมีสาขาทุกจังหวัดทั่วประเทศ จะเป็นหน่วยงานหลักที่จะเชื่อมโยงและเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้ประกอบการซึ่งเป็นสมาชิกกองทุน ผ่านการให้คำแนะนำให้สมาชิกกองทุนสามารถนำเสนอสินค้าของตนเข้าสู่ “ตลาด กทบ สสว.” หรือ อำนวยความสะดวกในการโพสต์เสนอสินค้าให้ รวมถึงประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิก สสว. เพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมต่างๆที่รัฐบาลสนับสนุนผู้ประกอบการผ่านทาง สสว.ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งมั่นใจว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนไปอีกขั้น และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากของไทยให้มีความเข็มแข็งและยั่งยืน” นายวีระพงศ์ ระบุ.