โควิดไม่กระทบ ยอดเปิดโรงงาน 6 เดือนพุ่ง 10.22 %
กรอ. เผย สถานการณ์โควิด-19 ไม่กระทบยอดขอเปิดโรงงาน 6 เดือนแรกปี 63 เพิ่มขึ้น 10.22 % มีการจ้างงานใหม่ 123,794 คน ขณะที่ยอดปิดกิจการมีเพียง 404 โรงงาน น้อยกว่าปี 62 และ ปี 61
นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยสถิติการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ว่า ยอดขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) ช่วงครึ่งแรกปี 63 (ม.ค.–29 มิ.ย.63) มีจำนวน 1,702 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.22 % มีการจ้างงานใหม่ 123,794 คน เพิ่มขึ้น 79.23 % และเงินลงทุน 174,850.47 ล้านบาท ลดลง 14.09%
อย่างไรก็ตามแม้ว่าทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 แต่เป็นที่น่าสังเกตคือมีปริมาณการจ้างงานใหม่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากแสดงให้เห็นว่าในส่วนของภาคอุตสาหกรรมได้มีการวางแผนการลงทุนล่วงหน้าอยู่แล้ว จึงทำให้ตัวเลขการลงทุน การจ้างงาน มีตัวเลขที่สูงขึ้น ซึ่งใน 2 ไตรมาสแรก ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นน่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19มากนัก ทั้งนี้ ต้องติดตามในไตรมาส 3 และ 4 ซึ่งอาจจะมีผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มาเป็นตัวชี้วัดอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 5 อันดับแรกคือ กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์มีความต้องต้องการแรงงานเพิ่ม 39,873 คน รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร มีความต้องการแรงงาน 20,112 คน, กลุ่มผลิตเครื่องจักรเครื่องกล 11,910 คน, กลุ่ มผลิตภัณฑ์โลหะ 6,002 และกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 5,814 คน
ส่วนยอดขอปิดกิจการ 6 เดือนแรกปี 63 มี 404 โรงงาน เลิกจ้างงาน 16,680คน คิดเป็นเงินลงทุน 25,414 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าปี 62 ที่มียอดขอปิดกิจการ 666 โรงงาน เลิกจ้างงาน 24,585 คน คิดเป็นเงินลงทุน 48,299 ล้านบาท ปี 61ยอดขอปิดกิจการ 550 โรงงาน เลิกจ้างงาน 23,251 คน คิดเป็นเงินลงทุน 20,473 ล้านบาท
ทั้งนี้ นายประกอบ ยังระบุว่า หากสถานาการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 คลี่คลายลง คาดว่า ยอดขอใบอนุญาตรง.4 จนถึงสิ้นปี 63 จะเพิ่มเป็น 3,000 โรงงาน
ส่วนแผนฟื้นฟู สถานประกอบการอุตสาหกรรม กรอ. ได้จัดทำข้อเสนอโครงการฯ ตามมาตรการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยและสังคม ตามนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาแล้ว จำนวน 5 โครงการวงเงินกว่า 148 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุน โดยการบำรุงรักษาเครื่องจักร สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
กลุ่มที่ 1 โรงงานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เคมี ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เหล็ก และต่อเรือซ่อมเรือ ,กลุ่มที่ 2 โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ยา ไม้หรือผลิตภัณฑ์จากไม้ สิ่งทอ เซรามิก แก้วและกระจก หนังและผลิตภัณฑ์หนัง,
โครงการฟื้นฟูและยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมด้านความปลอดภัย มาตรฐาน ผลิตภาพ พลังงานและสิ่งแวดล้อม, โครงการพัฒนายกระดับศักยภาพการผลิตของเอสเอ็มอี กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟติงส์ หรือ IoTs ให้ได้ชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และโครงการฟื้นฟูโรงงานอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปด้วยเทคนิควิศวกรรมอาหาร เชื่อว่าหากได้รับการสนับสนุนก็จะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้.