“สมคิด” มอบนโยบายเร่งช่วยเหลือ SME ชายขอบ
สมคิด มอบนโยบายช่วยเหลือSME ผวาวิกฤตปี40 เร่ง สสว.จัดงบ 50,000 ล้านบาท หนุนSMEชายขอบเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ คาดได้รับความช่วยเหลือกว่า 7.65 แสนราย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานมอบนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ว่า เอสเอ็มอีมีทุนน้อย ธนาคารส่วนใหญ่จะโฟกัสธุรกิจใหญ่ เมื่อเศรษฐกิจลงลึกมากเท่าไหร่ยิ่งไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ เพราะกลัวจะเป็นปัญหา ทั้งที่หนี้เสียไม่ได้มาจากความผิดของนักธุรกิจ แต่เป็นเพราะไม่สามารถช่วยเขาตั้งแต่ต้นได้ ถ้ายังเป็นอย่างนี้ ไม่ช่วยตั้งแต่ต้นจะทำให้ทุกธนาคารลำบาก เพราะไม่มีทางที่จะอุ้มชูด้วยสินเชื่อลูกค้าที่มี หากเศรษฐกิจข้างนอกมีปัญหาจะพันกันไปทั้งหมด
“ตอนนี้เรากำลังเจอพายุลูกใหญ่ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ถ้าไม่ตั้งรับดีๆ ก็จะเหนื่อยกันหมด เช่น สิงคโปร์ต้องยุบสภา เพราะคาดคะเนว่าเศรษฐกิจจะย่ำแย่ลงมาก จึงยุบก่อน เพื่อเลือกตั้งจะได้มีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ เวลามีพายุ อย่างพายุวิกฤตปี 2540 ได้ผ่านมาแล้ว คนที่จะถูกกระทบก่อนเลยคือ เอสเอ็มอี ซึ่งตัวเล็ก เงินน้อยแต่มีการจ้างงานพอสมควร ถ้าไม่ดูแลจะได้สินเชื่อยากมาก จึงต้องดูแลตั้งแต่ต้นทาง ให้อยู่รอดได้ ให้มีการจ้างงานต่อไป”
ดังนั้น ต้องขอความร่วมมือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะธนาคารรัฐ ส่วนธนาคารเอกชนไม่พูดถึง เพราะเป็นสิทธิ์ของการทำธุรกิจ ธนาคารรัฐมีคลังถือหุ้นใหญ่ ถ้ายังไม่ช่วยกันจะลำบากมาก สสว.จึงต้องเป็นด่านแรกที่ต้องเข้าไปดูแล
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และไมโครเอสเอ็มอีทีได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการชายขอบที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ โดยได้จัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ ที่ไม่เคยได้รับสินเชื่อกับสถาบันการเงิน และ ไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน วงเงินงบประมาณ 50,000 ล้านบาท คาดว่าผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือ จำนวน 765,000 ราย
โดยกลุ่มเป้าหมาย จะเป็นผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาที่มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่ง ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือนิติบุคคล และวิสาหกิจชุมชนที่มีการจดทะเบียน หรือที่ไม่ได้จดทะเบียน แต่จะต้องมีคุณสมบัติหลักๆ 3 ข้อ ได้แก่ 1. เป็นสมาชิก สสว. 2. เป็นผู้ประกอบการ SME ที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับสถาบันการเงิน และไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบัน
3. ผู้ขอสินเชื่อต้องไม่ผิดนัดชำระหนี้ หรือค้างชำระค่างวดตามเงื่อนไขไม่เกิน 4 งวด ในโครงการพลิกฟื้น SMEs และโครงการฟื้นฟู SMEs ของ สสว.เป็นการเติมพลังต่อทุนให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2563 สำหรับรายละเอียดเงื่อนไขและกติกาต่างๆ จะแจ้งให้ทราบภายหลังจากที่ผ่านการประชุมคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ สสว. จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เนื่องจากงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในแต่ละปีมีวงเงินสูงมาก โดยในปี 2562 มีมูลค่าตลาดภาครัฐทั้งหมดกว่า 1.3 ล้านล้านบาท หากช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงโครงการจัดซื้อจัดจ้างได้ 30 เปอร์เซ็นต์ จะสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการกว่า 400,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่ามาตการดังกล่าว จะแล้วเสร็จในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม 2563 นี้