ท่องเที่ยว-บริการชุมชน พลิกวิกฤตเศรษฐกิจ
สทบ.ชี้เป้า! วงเงินตาม “5 แผนงาน” เสนอคณะกรรมการกลั่นกรองฯ 4 หมื่นล้านบาท สามารถสร้างเม็ดเงินหมุดเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยได้มากกว่า 5 เท่าตัว รวม 3 ปี สร้างรายได้พุ่ง 2.1 แสนล้านบาท ย้ำ! “ธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนและบริการโดยกองทุนหมู่บ้าน” จะเป็น “ไฮไลต์สำคัญ” พลิกชะตาสมาชิกฯ 40 ล้านคน แถมช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยจากสารพัดวิกฤต หนุนระบบเศรษฐกิจฐานราก ก้าวสู่ความความมั่นคง เข้มแข็งและยั่งยืน
ล้ำหน้า! เสียจน “คนคิดในกรอบ” ตามกันไม่ทัน…
ยังดีที่ คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท)…ไหวตัวทัน!
รับฟังกระแสเสียงที่สะท้อนมาจากสังคมไทย…เชิญ นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผอ.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สบท.) ไป พรีเซ้นท์…แบบโชว์หน้า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา จนหลายคนถึง…บางอ้อ! เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงแผนงานตามโครงการที่ สทบ.เสนอไป
“เม็ดเงิน 4 หมื่นล้านบาทที่ สทบ.เสนอ สามารถจะสร้างงานและสร้างรายได้ ก่อเกิดเป็นวงจรเศรษฐกิจหมุนเวียนในระบบ รวมกันมากถึง 1 แสนล้านบาทในปีหน้า” นั่นคือ บทสรุปความคิด “นอกกรอบ” ที่ นายรักษ์พงษ์ บอกกับคณะกรรมการกลั่นกรองฯ
มาดูกันชัดๆ ว่า…แผนงานตามโครงการของ สทบ.มีอะไรที่น่าสนใจ? กระทั่ง จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้มากถึง 1 แสนล้านบาท หรือราว 2.5 เท่าของวงเงินที่พวกเขาเสนอในครั้งนี้…ในปีหน้า (2564) และ หากนับรวมเวลาที่เหลือของปีนี้ (2563) และทั้งปีของปี 2565…ผลจะเป็นอย่างไร?
แผนงานส่งเสริม 5 ด้านของสทบ. ประกอบด้วย…1.การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน 2.การสร้างมูลค่าและยกระดับสินค้าและบริการ 3.การพัฒนาและสร้างอาชีพให้ชุมชน 4.การขนส่งและกระจายสินค้าสู่ชุมชน และ 5.การตลาดสำหรับสินค้าชุมชน
ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS เคยนำเสนอประเด็นข่าว…การจ้างงาน “บิ๊กล็อต” กับลูกหลานสมาชิกกองหมู่บ้านฯ มากถึง 2.4 แสนคน เป็นเวลา 3 เดือน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดทำ ฐานข้อมูลในทุกมิติของกองทุนหมู่บ้านทั้งกว่า 7.9 หมื่นแห่ง เพื่อสร้าง ฐานข้อมูลขนาดมหึมา ที่เรียกว่าเป็น BIG DATA สำหรับใช้เป็นข้อมูลเพื่อ…การทำงาน วางแผน และจัดทำโครงการของแต่ละกองทุนหมู่บ้านฯ รวมถึงสร้าง “อัตลักษณ์” เฉพาะตน…ที่มีความโดดเด่นและดูดดึงใจของคนต่างถิ่น
ประเด็นนี้…ถือเป็นส่วนหนึ่งของ แผนงานข้อที่ 3. นั่นคือ การพัฒนาและสร้างอาชีพให้ชุมชนแต่ที่ลึกและน่าสนใจไม่ต่างกัน ก็คือ แผนงานในอีก 4 ข้อที่เหลือ ซึ่งขณะนี้ สทบ.ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน และบางส่วนจำเป็นต้องรอฐานข้อมูลจาก BIG DATA ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงสิ้นเดือน ก.ย.นี้
ใครที่ติดตาม ข่าว สทบ. ช่วงที่ผ่านมา คงรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของการจัดทำ แอปพลิเคชั่น LINE “ตลาด กทบ.” ที่ที่รวบรวมสินค้าและบริการของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ เข้าไว้ด้วยกัน สมาชิกฯสามารถจะ ขาย และ/หรือ สั่งซื้อสินค้าและบริการระหว่างกันได้ เพียงแค่…คลิ๊กลิงค์ติดต่อกัน โดยอาศัย แอปฯ LINE “ตลาด กทบ.” เป็นตัวกลาง…ตรงกับ ข้อที่ 5.การตลาดสำหรับสินค้าชุมชน
เมื่อการซื้อขายเกิดขึ้น…การขนส่งสินค้าระหว่างกันจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ก่อนหน้านี้ สทบ.ได้พูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับ…การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท ขนส่งทาง จำกัด (บขส.) มาบ้างแล้ว เพื่อประสานความร่วมมือในการรับส่งสินค้า ระหว่าง…จังหวัดและระหว่างภูมิภาค (ภาคเหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก และภาคใต้)
แต่การ รับ-ส่งสินค้า ต่อจาก รฟท.และบขส. จำเป็นจะต้องมี “ตัวกลาง” เข้ามาประสานงาน เพื่อให้การรับ-ส่งต่อจนถึงมือสมาชิกฯ…จบและครบกระบวนการ!
นั่นจึงเป็นที่มาของ โครงการ “วินชุมชน” ที่ สทบ.เตรียมจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ ตรงกับ แผนงานข้อที่ 4.การขนส่งและกระจายสินค้าสู่ชุมชน
โดยแนวคิด คือ การดึงเอา…รถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ รถกระบะ และรถบรรทุกขนาดเล็ก ที่สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ในแต่ละพื้นที่ (จังหวัด) มี มารวมตัวกัน แล้วจัดสรรเนื้องานและบทบาทหน้าที่ให้ตรงกับความต้องการของสมาชิกฯ แต่หาก “คนนอก” สนใจจะใช้บริการรับ-ส่งสินค้า ก็คงไม่แปลกอะไรนัก
เฉพาะโครงการนี้ สามารถจะต่อยอดไปถึงการสร้าง “อู่ซ่อมรถกองทุนหมู่บ้านฯประจำจังหวัด…” หมายถึง…การ “ลงขัน” ร่วมลงทุนของกองทุนหมู่บ้านฯต่างๆ ในจังหวัดนั้นๆ จัดสร้าง “อู่ซ่อมรถ” ขึ้นมารองรับการให้บริการแก่สมาชิกฯ ในราคาเหมาะสม ภายใต้คุณภาพมาตรฐานเดียวกัน หากจำเป็น…อาจดึง “มืออาชีพ” มาร่วมงาน พร้อมกับ เปิดโอกาสให้…สมาชิกและลูกหลานได้มีงานทำเพิ่ม หรือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านงานช่าง (ซ่อมเครื่องยนต์และอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์) ขึ้นมาได้อีก
นายรักษ์พงษ์ ย้ำว่า ก่อนจะสร้างมูลค่าและยกระดับสินค้าและบริการ จำเป็นจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้กองทุนหมู่บ้านฯและสมาชิกฯได้มีรายได้ในรูป “ตัวเงิน” เสียก่อน…เพราะเงินถือเป็นปัจจัยที่ช่วยยืนยันว่าการจะดำเนินการอะไรต่อไปนั้น ปลายทางคือความสำเร็จ พร้อมกับยกตัวอย่าง…ความล้มเหลวของแพลตฟอร์ม “มาร์เก็ตเพลส” ที่หลายหน่วยงานใช้เงินงบประมาณลงทุนเป็นจำนวนมาก
สุดท้าย…เมื่อขายสินค้าไม่ได้ ก็จะกลายเป็น “มาร์เก็ตเพลส-ล้าง” ที่มีให้เห็นดาษดื่นในทุกวันนี้
นั่นจึงเป็นเหตุผล ที่ สทบ. เน้นเรื่องการสร้างงานและสร้างงาน “ดึงเอาเงิน” เข้ากองทุนหมู่บ้านฯ เพื่อให้สมาชิกฯได้มีรายได้ และนำบางส่วนของรายได้ไปปรับปรุงและพัฒนาสินค้าและบริการ อย่างไรก็ตาม ระหว่างการสร้างช่องทางขาย สทบ.จำเป็นจะต้องวางแผนร่วมกับพันธมิตร โดยเฉพาะ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อนำเทคโนโลยีและเครื่องมือมาช่วยแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน ตามแผนงานข้อที่ 2.
แต่ไฮไลท์สำคัญ และเป็น “หัวใจ” ของการสร้างรายได้ ด้วยการดึงเงินจากภายนอก มากระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน นั่นคือ การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน (ข้อที่ 1.) ซึ่งเป็นสิ่งที่ นายรักษ์พงษ์ เน้นย้ำกับ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ กระทั่ง สิ่งนี้…จะกลายเป็นที่มาของการสร้างงานสร้างรายได้ ต่อเชื่อมไปยังข้ออื่นๆ ที่เหลือ
เพียงแต่…งานหลักเดิม เช่น อาชีพเกษตรกรรม ปศุสัตว์ การผลิตสินค้าชุมชนอื่นๆ นั้น จะต้องดำเนินการต่อไป หยุดหรือเลิกไม่ได้ เนื่องจาก…ข้อจำกัดของการท่องเที่ยว คือ สามารถดำเนินการได้และมีรายได้เข้ามาเพียง 2-3 วันต่อสัปดาห์ ไม่อาจทำได้ทุกวัน…ตลอดสัปดาห์ เหมือนธุรกิจอื่นๆ
เสียดาย…ปฐมบท! ของการเปิดตัว…โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ที่มีขึ้น ณ กองทุนหมู่บ้านคลองนาเกลือ ม. 2 ต.นาเกลือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขาดร่างเงาของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ที่ ติดภารกิจเร่งด่วน! ชนิดด่วนมากๆ จนไม่อาจมาร่วมงานนี้ได้ และเจ้าตัว…ก็บ่นให้คนใกล้ชิดฟัง ทำนอง…เสียดายที่ไม่ได้มาร่วมงานนี้ฯ
กระนั้น งานนี้…ก็ยังเดินหน้าต่อไปตามเป้าหมายและแผนงามเดิม แถมได้ยัง…นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผจก.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และเป็น หนึ่งในสมาชิก บอร์ด กทบ. มาร่วมในงานด้วย และตัวเขาพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของ แผนงงาน สทบ. ทั้งในแง่ของ การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร รวมถึงเป็น แหล่งเงินทุน หากสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ต้องการ
สำหรับ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน นั้น นายรักษ์พงษ์ ย้ำว่า…ตนได้พรีเซ้นท์ต่อ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ถึงเหตุผลและความจำเป็นของโครงการดังกล่าว พร้อมบัญญัติ…วลีใหม่ ว่าเป็น “การท่องเที่ยวชุมชนโดยกองทุนหมู่บ้าน” เพราะมีแต่กองทุนหมู่บ้านฯเท่านั้น ที่จะ ทำงานตามภารกิจนี้…ได้ตรงจุดและดีที่สุด ไม่เพียงรู้และเข้าใจในงานบริการ และจุดเด่นของแต่ละชุมชนมี
หากแต่ความเป็น…องค์กรนิติบุคคล ที่สามารถจะทำนิติกรรมใดๆ ตามกรอบกฎหมายได้ และทำได้มากกว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่มีข้อจำกัดมากมาย นั่นจึง เป็นเหตุผลที่ว่า…ทำไม? กองทุนหมู่บ้านฯจึงเหมาะกับภารกิจการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน กระทั่ง เป็นที่มาของ “การท่องเที่ยวชุมชนโดยกองทุนหมู่บ้าน”
ไม่ต่างจากโครงการ “วินชุมชน” เพราะ “การท่องเที่ยวชุมชนโดยกองทุนหมู่บ้าน” สามารถจะต่อยอดและขยายผลโครงการฯ ไปยัง…การสร้าง “ร้านอาหารกองทุนหมู่บ้านฯประจำจังหวัด…” ผ่านแนวคิดเดียวกัน แต่ที่มากกว่านั้นคือ…
“ร้านอาหารกองทุนหมู่บ้านฯประจำจังหวัด…” ไม่เพียงให้บริการด้านอาหารและเครื่องดื่มแก่สมาชิกกองทุนฯ จากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงคนนอกกองทุนฯแล้ว การเลือกใช้วัตถุดิบในการปรุงอาหาร และน้ำดื่มที่จำหน่ายในร้านฯ ล้วนมาจากสมาชิกกองทุนฯในจังหวัดนั้นๆ
มากกว่านั้น…พื้นที่บางส่วนของร้านอาหารฯ ยังสามารถปรับแต่งเป็นร้านค้าจำหน่ายสินค้าประเภทวัตถุดิบ เช่น สินค้าเกษตร อาหารสด ผักสด ฯลฯ รวมถึงอาหารแปรรูป ของฝากของที่ระลึก และอื่นๆ อีกมากมาย
และหากจะต่อยอด…สร้างเป็นที่พักชั่วคราวในลักษณะ “โฮสเทล” หรือที่พักขนาดเล็ก ราคาประหยัด ขึ้นมาในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็จะยิ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ “การท่องเที่ยวชุมชนโดยกองทุนหมู่บ้าน” มากยิ่งขึ้นไปอีก
สิ่งนี้…หาได้อยู่นอกเหนือความเป็นไปได้แต่อย่างใด?
“จากนี้ จะสั่งการให้ หัวหน้าสำนักงานสาขาของ สทบ. ทั้ง 13 แห่งของ ไปมอบโจทย์ในการจัดทำแพ็กเกจท่องเที่ยวแก่ผู้บริหารกองทุนหมู่บ้านต่างๆ ที่ดำเนินธุรกิจด้านการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสร้างความน่าสนใจในการท่องเที่ยวชุมชนอย่างมีอัตลักษณ์ และแตกต่างไปจากแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ อย่างน้อยก็ต้องเป็น “วันเดย์ทริป” หรือมากกว่านั้น โดย…เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในชุมชนอันเป็นที่ตั้งของกองทุนฯ กับชุมชนอื่นๆ เพราะการท่องเที่ยวชุมชน ไม่เพียงดึงรายได้เข้าสู่ชุมชน หากยังช่วยให้สมาชิกองทุนหมู่บ้านฯ สามารถขายสินค้าเกษตร ของฝากของที่ระลึก รวมถึงขายอาหารและห้องพัก รวมถึงบริการอื่นๆ ได้อีก” ผอ.สทบ.ย้ำ และว่า…
ต้องทำให้นักท่องเที่ยว อยู่เที่ยวและใช้จ่ายเงินในชุมชนให้มาก โดยการเป็นเพียงแค่…ทางผ่านของนักท่องเที่ยว เพื่อให้แวะมาถ่ายรูปหรือใช้บริการห้องสุขาจะต้องไม่เกิดขึ้น ตามแผนงานส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนโดยกองทุนหมู่บ้าน นับจากนี้ เราต้องทำให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องให้มากที่สุด
และนั่น…จึงเป็นที่มาของ แผนงานทั้งหมด 5 ข้อ…ซึ่ง นายรักษ์พงษ์ ยืนยันว่า…เม็ดเงินที่เสนอไปเพียง 4 หมื่นล้านบาท จะไหลกลับคืนมาในสัดส่วนที่มากกว่า และได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ปรากฏใน แผนงาน/โครงการ ที่ สทบ.ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ระบุว่า…ในปีงบประมาณ 2563 ต่อเนื่องถึงปีงบประมาณ 2564 และปี 2565 จะเพิ่มการจ้างงาน 2.4 แสนคน สร้างอาชีพในปีงบประมาณ 2564 ราว 1 ล้านคน รวมถึงสร้างรายได้ราว 2 หมื่นล้านบาทในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ 2563 และ 1 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 รวมถึงอีก 9 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2565
รวมรายได้ 3 ปี มากถึง 2.1 แสนล้านบาท! หรือกว่า 5 เท่าตัวที่ สทบ.ขอไป!!!
เห็นได้ชัดว่า…กลไกการทำงานของกองทุนหมู่บ้านฯ มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการ “สร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย เพิ่มคุณภาพชีวิต” ให้กับสมาชิกฯ ซึ่งก็คือ…ชาวบ้านทั่วทุกท้องถิ่นไทย กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศ ได้อย่างมีนัยสำคัญ และ สามารถจะตอบโจทย์ตามเป้าหมายของรัฐบาล ภายใต้แผนงานการสร้างเสริม “เศรษฐกิจชุมชน” (Local Economy) ที่เข้มแข็ง…สร้างความยั่งยืนต่อระบบเศรษฐกิจฐานราก ได้อย่างตรงจุดที่สุด และได้เป็นอย่างดี!
ถึงตรงนี้…หากจะบอกว่า “การท่องเที่ยวชุมชนและบริการโดยกองทุนหมู่บ้าน” นับจากนี้ไป…ไม่เพียงจะพลิกชะตาของกองทุนหมู่บ้านฯและสมาชิกฯเท่านั้น หากแต่ยังจะมีส่วนสำคัญต่อการพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ จากสารพัดวิกฤติที่ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ถาวร สืบต่อไป…
คำพูดนี้…ก็คงไม่ไกลเกินความเป็นจริงมากนัก!!!
อนึ่ง เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 18 มิ.ย. 2563 นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผอ.สทบ. พร้อมคณะ ลงพื้นที่เพื่อมอบนโยบายการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองและติดตามความเคลื่อนไหว โครงการ “เพิ่มรายได้ด้วยการท่องเที่ยวโดยชุมชน” ร่วมกับ นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส., นายสุรศักดิ์ วงษ์เหม ผู้ทรงคุณวุฒิ กทบ., นายสุรชาติ กันนิ่ม ผู้ทรงคุณวุฒิ กทบ., นายปรเมศร์ อย่างธารา ประธานเครือข่าย กทบ. จังหวัดสมุทรปราการ, นายพะยอม วิสุทธิรัตน์ ประธานเครือข่าย กทบ. จังหวัดจันทบุรี และ นายธนันชัย บุญมาก หัวหน้า สทบ.สาขา 11 โดยมี นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ รอง ผจว.สมุทรปราการ, น.ส.สุกานดา แสงวงษ์ พัฒนาการจังหวัดสมุทรปราการ, นายจารุวัฒน์ วงศ์จอม นอภ.พระสมุทรเจดีย์, นายฉัตรชัย เวชสาร ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสมุทรปราการ, นายชาตรี อ่วมสอาด นายก อบต.นาเกลือ และ นายอภิศักดิ์ บุญแช่ม ปธ.กองทุนหมู่บ้านคลองนาเกลือ ให้การต้อนรับ โดยมี พ.ต.อ.เอกธนูเพชร ฉมาฤกษ์ ผกก.สภ.นาเกลือ นำทีมฯ อำนวยความสะดวกด้านการจราจรและความเรียบร้อย.