จ้างงานล็อตใหญ่ สร้าง BIG DATA กองทุนหมู่บ้านฯ
“รักษ์พงษ์” เตรียมเงิน “หมื่นล้านบาท” จ้างงาน “บิ๊กล็อต” ลูกหลานสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ กว่า 200,000 คน ร่วมทีมฯลงพื้นที่หา “จุดเด่น-อัตลักษณ์เฉพาะ” สร้างจุดขาย “สินค้าและบริการ” ให้เกือบ 8 หมื่นกองทุนฯทั่วไทย ที่เหลือ 3 หมื่นล้านบาท กระจายสู่กองทุนหมู่บ้านอย่างเท่าเทียม เผย! จากนี้จะมี BIG DATA ช่วยวางแผนทำงานอย่างมีทิศทาง นำสู่เป้าหมายความสำเร็จ สร้างเศรษฐกิจฐานราก ย้ำ! ทุกกองทุนฯ “เล็ก-ใหญ่” มีคุณค่าเหมือนกัน ได้ส่วนแบ่งเฉลี่ยเท่ากัน มั่นใจ “คณะกรรมการกลั่นกรอง-สภาพัฒน์” เลือกโครงการตอบโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลแน่!
“ไฮไลต์” ในพิธีซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิตและสินค้าต่างๆ “พืชผักผลไม้ ทั้งสดและแปรรูป รวมถึงอาหารทะเลแปรรูป และอื่นๆ” จากกองทุนหมู่บ้านของ…เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ชุมพร จันทบุรี ตราด และปราจีนบุรี รวมมูลค่ากว่า 350,000 บาท ระหว่าง…สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ จากพื้นที่ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออก เมื่อช่วงสายวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา บริเวณหอประชุม อบต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย
…ไม่ได้อยู่กับเนื้องานหลัก?
หากแต่เป็นการให้สัมภาษณ์ของ นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผอ.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เกี่ยวกับเม็ดเงิน 4 หมื่นล้านบาท จากโครงการที่ สทบ.ทำและนำเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) ที่มี เลขาธิการสภาพัฒนฯ เป็นประธานฯ ไปก่อนหน้านี้
ไม่ว่าจะได้ตามที่ขอ “เต็มวงเงิน” หรือไม่ก็ตาม ทว่า สทบ.ได้จัดเตรียมแผนงานที่จะเป็น“อนาคต” สำหรับการทำงานร่วมกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ไปแล้ว
เม็ดเงิน 1 หมื่นล้านบาท…จะถูกนำไปว่าจ้างลูกหลานของสมาชิกกองทุนฯ กว่า 7.9 หมื่นแห่งทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการตามภารกิจบางอย่าง? และ หากการว่าจ้าง “คนรุ่นใหม่” ที่มีดีกรีระดับ “ปริญญาตรี” เกิดขึ้นจริง! จะถือเป็นการ “จ้างงาน” ล็อตใหญ่ทีเดียว เพราะ สทบ.จะได้ตัวแทนจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง แห่งละ 3 คน หรือรวมกันกว่า 2 แสนคนทั่วประเทศ
ทำงานในพื้นที่…ในฐานะ “ผู้สำรวจข้อมูล” ควานหา “ข้อมูลแท้จริง” ตามอัตลักษณ์ของแต่ละกองทุนฯ เพื่อสร้าง “จุดเด่น” รองรับภารกิจใหม่ นอกเหนือจากการเป็น “สถาบันการเงินชุมชน” เหมือนที่แล้วๆ มา
ไม่ว่าจะเป็น…การจัดเก็บข้อมูลด้านต่างๆ อาทิ ทักษะแรงงาน, สินค้าและบริการชุมชน, ท่องเที่ยวชุมชน, ทักษะความเชี่ยวชาญ, องค์ความรู้ของบุคลากรในชุมชน, การขนส่งและกระจายสินค้าในชุมชน, การตลาดของสินค้าชุมชน, ความต้องการของกองทุนฯต่างๆ รวมถึงความต้องการด้านพัฒนาสินค้าและบริการ
ข้อมูลทั้งหมด…จะถูกนำไปวิเคราะห์และออกแบบจัดทำโครงการ/กิจกรรม สำหรับให้กองทุนฯและสมาชิกเลือกไปดำเนินการกันเอง ตามความถนัดและความเชี่ยวชาญ รวมถึงสะท้อนอัตลักษณ์ของกองทุนฯตัวเอง
สะท้อนอะไรที่ตรงกับทั้งความต้องการของกองทุนฯและสมาชิก อีกทั้งยังตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ซึ่งนั่น…จะทำให้โครงการ/กิจกรรมนั้นๆ อยู่รอดปลอดภัย และมีอนาคตที่ยั่งยืน เป็นที่พึ่งพิงของทั้งกองทุนฯและสมาชิก เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากต่อไป
ตอบสนอง…เป้าหมายของรัฐบาล ภายใต้แผนงานการสร้างเสริม “เศรษฐกิจชุมชน” (Local Economy) ที่เข้มแข็ง…สร้างความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจฐานราก ผ่านดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองฯ ที่เน้น “สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดรายจ่าย เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า” ให้กับสมาชิกกองทุนฯทั่วประเทศ
เนื้องานที่ สทบ.จะได้จาก…ลูกหลานของสมาชิกกองทุนฯ จะถูกนำไปจัดทำเป็น “ฐานข้อมูลขนาดมหึมา” (BIG DATA) รองรับการวางแผนงานและการดำเนินงานในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้เกิดโครงการและเนื้องานที่ตอบโจทย์ของรัฐบาล โดยเฉพาะ คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็น ประธาน กทบ. ได้อย่างตรงจุดมากสุด!
ส่วนที่เหลืออีก 3 หมื่นล้านบาท จะถูกนำไปใช้ตามความต้องการแท้จริงของกองทุนหมู่บ้านฯแต่ละแห่ง ที่เสนอขึ้นมา แม้ยามนี้…จะยังไม่อาจใช้ BIG DATA เพื่อสร้างรูปแบบของโครงการ/กิจกรรมได้ แต่เมื่อต้องถูกตรวจคัดกรองจาก สำนักงานสาขาของ สทบ.ทั้ง 13 แห่ง ขึ้นกับว่า…กองทุนหมู่บ้านฯนั้นๆ อยู่ในพื้นที่ของสาขาใด จากนั้น…จะมี คณะกรรมการกลั่นกรองฯในส่วนกลาง คอยตรวจเช็คอีกชั้นหนึ่ง
จึงน่าจะทำให้โครงการนั้นๆ สามารถตอบโจทย์ของรัฐบาลได้อย่างตรงจุดที่สุด! เช่นกัน
นายรักษ์พงษ์ ระบุว่า หาก สทบ.ได้รับจัดสรรเงินจากโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจตามที่ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะนำส่วนที่เหลือจากดำเนินงานและการว่าจ้างลูกหลานของสมาชิกกองทุนฯ ไปจัดสรรให้กับ…กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองต่างๆ ตามที่ทำเรื่องเสนอโครงการมาอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกว่ากองทุนฯนั้นๆ จะเล็กหรือใหญ่ เพราะเม็ดเงินส่วนที่เหลือคงมีไม่มากนัก หากนำไปหารเฉลี่ยแบ่งปันเท่าๆ กัน
อย่างไรก็ตามเชื่อว่า เงินที่เหลือราว 300,000 บาทต่อกองทุนฯ จะตอบโจทย์รัฐบาลและสร้างโอกาสในการ “สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดรายจ่าย เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า” ให้กับสมาชิกกองทุนฯได้เป็นอย่างดี
ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวทำนอง… สภาพัฒน์ ในฐานะหน่วย งานหลักของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เตรียมหั่นโครงการจากหลายๆ หน่วยงาน ที่เสนอวงเงินรวมกันมา…มากกว่า 8 แสนล้านบาท ทั้งที่รัฐบาลมีเม็ดเงินจากโครงการเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพียงแค่ 4 แสนล้านบาทเท่านั้น
ประเด็นคือ…บางโครงการที่อาจถูกตัดออกไปนั้น กลับตอบโจทย์ของรัฐบาลได้ดีกว่าอีกหลายๆ โครงการที่อยู่ในข่ายจะได้รับจัดสรรเม็ดเงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะกลุ่ม…สร้างถนน ขุดคลอง ขุดเจาะบ่อบาดาล ฯลฯ แย่กว่านั้น…คือ การนำไปช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อ้างความเป็น “เศรษฐกิจชุมชนและรากหญ้า” ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับเม็ดเงินก้อนนี้ และตัวภารกิจเอง…ก็ไม่ตอบโจทย์ของรัฐบาล แถม ผู้ประกอบการเหล่านั้น…ยังมีอีกหลายช่องทางที่จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น ความช่วยเหลือด้านเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ การพักชำระหนี้ และอีกสารพัด จาก…สถาบันการเงินเฉพาะกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง หรือจากธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านธนาคารพาณิชย์
เรื่องทำนองนี้…สทบ.เป็นห่วงหรือไม่? นายรักษ์พงษ์ ตอบว่า…ไม่ห่วง! หากสภาพัฒน์และคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะเลือกเอาแนวทางเช่นนี้ ก็ต้องไปตอบรัฐบาลเองว่า เหตุใดจึงไม่เลือกโครงการที่สามารถจะตอบโจทย์ของรัฐบาล โดยเฉพาะการการส่งเสริมการสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิฐานราก
ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2563 เพิ่งมีคำตอบจาก นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ที่ระบุว่า สภาพัฒน์…ไม่น่าจะมีพฤติกรรมเช่นนั้น เพราะเป็นหน่วยงานที่ต้องมีความกลางในการพิจารณาโครงการต่างๆ ที่ส่วนราชการและหน่วยงานรัฐนำเสนอมา อีกทั้งใน…คณะกรรมการกลั่นกรองฯ และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ต่างก็มีตัวแทนจากหลายภาคส่วน คอยพิจารณาและให้ความเห็นต่อการพิจารณาโครงการนั้นๆ ไม่อาจที่ สภาพัฒน์จะทำการชี้นำ หรือตัดสินใจในลักษณะกระทำตามอำเภอใจได้แต่อย่างใด
ถึงตรงนี้…คงทำให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศเกือบ 8 หมื่นกองทุน และสมาชิกเฉียด 13 ล้านครัวเรือน ราว 40 ล้านคน…เบาใจได้
อย่างน้อย…สภาพัฒน์ คงไม่มีพฤติการณ์ “วิจารณ์คนอื่นๆ โดยไม่อ่านโครงการ” อย่างที่เขาล่ำรือกันแน่! ที่สำคัญ…การจะพิจารณาตัดทิ้ง หรือใส่เม็ดเงินไปให้แต่ละโครงการนั้น จะต้องอยู่บนหลักการและพื้นฐานของการจะ…ตอบ “โจทย์ใหญ่” ของรัฐบาล ได้โดย…ไม่มีอคติ และปราศจากความอยุติธรรม ให้ได้เห็นอย่างแน่นอน.