“โควิด – ASF”โอกาสทองส่งออกหมูไทย
สมาคมหมู เผยโควิด – ASF กระทบหมูขาดแคลนทั่วโลก ชี้เป็นโอกาสดันส่งออกหมูไทย
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มองสถานการณ์โควิดสหรัฐฯน่าห่วง สั่งปิดโรงฆ่าสัตว์-โรงงานแปรรูป 97 แห่ง พร้อมระงับการส่งออกสินค้าบางส่วน กระทบปริมาณอาหารโลก ขณะ ASF กระทบอุตสาหกรรมหมูทั้งภูมิภาคหลายประเทศขาดแคลนหนัก ส่งผลราคาพุ่ง ชี้หมูไทยปลอดโรค-ตลาดต้องการ เป็นโอกาสส่งออก
น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตหมูทั่วโลกในปัจจุบันว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลกและอาจลุกลามไปถึงปัญหาการขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้ออันดับ 1 ของโลก โดยมีผู้ติดเชื้อที่เป็นพนักงานของโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์และอาหารมากกว่า 11,000 คน ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่ระดับโลกของสหรัฐฯ หลายบริษัทต้องปิดโรงฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูปหลายแห่ง
“สหรัฐฯต้องปิดโรงฆ่าสัตว์และโรงงานแปรรูปมากถึง 97 แห่ง ทั้งโรงชำแหละหมู 25 แห่ง โรงชำแหละไก่ 34 แห่ง โรงชำแหละวัว 38 แห่ง ปริมาณเนื้อสัตว์ที่หายไปกระทบกับปริมาณอาหารในสหรัฐฯ ส่งผลถึงระดับราคาสินค้าปศุสัตว์ที่สูงขึ้น และในการที่สหรัฐฯเป็นผู้ส่งออกเนื้อสัตว์เบอร์ต้นๆของโลก จึงจำเป็นต้องระงับการส่งออกสินค้าบางส่วน เพื่อรักษาปริมาณอาหารในประเทศไม่ให้ขาดแคลน ย่อมส่งผลต่อปริมาณอาหารของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” น.สพ.วิวัฒน์ กล่าว
ขณะเดียวกันในภูมิภาคเอเชียยังเกิดปัญหาโรค ASF ในหมู ที่ส่งผลต่อปริมาณเนื้อหมูในภูมิภาค ยกตัวอย่าง เวียดนาม ที่เป็นประเทศผู้ผลิตเนื้อหมูอันดับ 6 ของโลก แต่การระบาดของ ASF ในปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนหมูอย่างหนัก ราคาเนื้อหมูพุ่งสูงสุดในรอบ 20 ปี ทางการเวียดนามต้องเพิ่มการนำเข้าเนื้อหมูเพื่อบรรเทาปัญหา เฉพาะ 4 เดือนแรกของปีนี้ มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 300% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยก่อนหน้านี้เวียดนามนำเข้าหมูจากสหรัฐฯเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อสหรัฐฯไม่สามารถส่งออกหมูมาได้ จึงต้องนำเข้าจากประเทศอื่นในราคาที่สูงขึ้น
“วันนี้น่ายินดีที่ไทยเป็นประเทศที่มีการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีที่สุด ในอันดับที่ 1 ของเอเชีย และอันดับที่ 2 ของโลก จากการจัดอันดับ 184 ประเทศ และไทยยังสามารถคงสถานะการเป็นประเทศที่ปลอดจาก ASF ทำให้ราคาหมูไทยถูกที่สุดในภูมิภาค เพราะไม่ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลน และหมูไทยยังกลายเป็นที่ต้องการของทุกประเทศ จึงถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมหมูและภาคปศุสัตว์ไทย จากนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาคมฯ ที่ต้องประสานความร่วมมือผลักดันอุตสาหกรรมหมูสู่ตลาดโลก” น.สพ.วิวัฒน์กล่าว.