งบ 4 แสนล้าน…กองทุนหมู่บ้าน ตอบโจทย์ตรงจุด

ใคร? โครงการใด? ตอบ “โจทย์ใหญ่” ของรัฐบาลในการจัดทำโครงการ “กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก” ตามมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม กระชากเม็ดเงินจากพ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท…มาใช้ได้อย่างตรงจุดมากที่สุด! มากแค่ไหน? อย่างไร? สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเติบโตแค่ไหน? กองทุนหมู่บ้าน…มีคำตอบ!

ดีที่สุด!…
เรื่องนี้…รู้กันเป็นการภายในของ คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) ซึ่งมี เลขาธิการสภาพัฒฯเป็นประธานฯ ว่า…
โครงการที่ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ในกำกับดูแลของ คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ นำเสนอต่อ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ เป็นหน่วยงานแรกๆ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ มาตรการเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท นั้น

เขียนได้ดีที่สุด! ตรงเป้า…เข้าประเด็น “ตอบโจทย์ใหญ่” ของรัฐบาล ที่วางเป้าหมายสำคัญในการใช้จ่ายเงินก้อนนี้ เพื่อให้เกิดการต่อยอด…นำสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน แก่ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ
กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง…มากที่สุด!
นั่นเพราะ โครงการฯที่พวกเขาเขียน…ล้วนมาจากฐานข้อมูล และข้อเท็จจริง! หลังจากส่งทีมงานจำนวนมาก ลงพื้นที่ทำการสำรวจข้อมูลพื้นฐานจากกองทุนหมู่บ้านฯมากกว่า 7.9 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมสมาชิกฯกว่า 12.9 ล้านครัวเรือน และเกี่ยวข้องกับประชากรมากถึง 40 ล้านคน
สร้าง Big DATA ที่ทรงคุณค่า นำข้อมูลพื้นฐานที่แตกต่างและหลากหลายเหล่านั้น มาวิเคราะห์เพื่อการวางแผนและทำงานในอนาคตอย่างมีเป้าหมาย และเป็นเป้าหมายที่ “ตอบโจทย์ใหญ่” ของรัฐบาลได้ตรงจุด มากสุด ดีและคุ้มค่ากับเงินภาษีของประชาชนคนไทย…ทุกบาททุกสตางค์…ที่สุด!

สำคัญไม่ต่างกัน นั่นคือ…ทุกโครงการที่นำเสนอไปนั้น ตรงใจ ตรงความต้องการ และสอดคล้องกับวิถีชุมชน อย่างมาก
ไม่แปลก! หากจะมี “มือดี” (นิสัยไม่ดี) บางคน…เปิดยุทธการ “ล้วงลับตับแตก” แอบฉก! เอาโครงการที่ สทบ. ได้นำเสนอเอาไว้ ออกไปให้บางหน่วยงาน/องค์กรกรทำการ “ลอกข้อสอบ” เพื่อหวังจะมีส่วนได้เสียกับการเข้าถึง งบประมาณเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ก้อนนี้
น่าหนักใจแทน…รัฐบาลและสภาพัฒน์ ในนาม คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ที่จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อคัดสรรโครงการต่างๆ ที่ แต่ละหน่วยงาน/องค์กร…ทำและนำเสนอกันมาในลักษณะ “จากล่างขึ้นบน” รวมกันมากกว่า 3 หมื่นโครงการ คิดเป็นวงเงินกว่า 8 แสนล้านบาท เกินกว่างบประมาณที่มีอยู่จริงถึงกว่าเท่าตัว
ที่สุด! จะตัดสินใจบนหลักการและเหตุผล ที่ได้รับ “โจทย์ใหญ่” มาจากรัฐบาล หรือจำต้องแกว่งไกวกันไปตามคำขอและแรงบีบของ “ขาใหญ่” บางคนบางกลุ่ม? เช่นที่มี “ข่าวหลุด!” ออกมาก่อนหน้านี้…

ถ้าวัดกันตาม “โจทย์ใหญ่” ที่รัฐบาล…เน้นและโฟกัสว่าจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ล่ะก็
ไม่มีเหตุผลใด…จะไปคัดง้างและตัดทอนงบประมาณที่ สทบ.ได้จัดทำโครงการฯและนำเสนอต่อคณะกรรมกลั่นกรองฯชุดนี้ ในกรอบวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 10 ของเม็ดเงินก้อนนี้ แต่อย่างใด
อันจริง…เป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน อย่าง…นายพิเชษฐ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ด้วยซ้ำ! ที่ อภิปราย พ.ร.ก.เงิน 1 ล้านล้านบาท ในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค.2563 แนะนำและเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณที่ได้จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แก่กองทุนหมู่บ้านกว่า 7 หมื่นแห่งๆ ละ 1 ล้านบาท
รวมเม็ดเงินเฉียด 8 หมื่นล้านนบาท…ให้แต่ละกองหมู่บ้านนำเงินที่ได้รับจัดสรรฯ ไปใช้เพื่อการเยียวยาและแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน ที่จะทำได้อย่างตรงจุดและตรงกับความต้องของชาวบ้านอย่างแท้จริง

ฝ่ายค้านฯ…ยังคิดและมองเห็นสภาพปัญหา พร้อมแนะนำทางออกได้ดีขนาดนี้ แล้วรัฐบาลที่ถือเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทในมือแท้ๆ จะคิดและมองสภาพปัญหา รวมถึงกำหนดแนวทางแก้ไข ผ่านการคัดกรองโครงการ เพื่อจัดสรรงบประมาณในก้อนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาทนี้อย่างไร?
ลองย้อนหลังกลับไปอ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับกองทุนหมู่บ้านในช่วง 1-2 เดือนก่อนหน้านี้ จนถึงปัจจุบัน จะพบและเห็นว่า…กองทุนหมู่บ้าน และสทบ. ยุคของ ผอ.รักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ขับเคลื่อนแนวคิดและแนวทางการทำงานไปข้างหน้าอย่างมีแบบแผนและมีเป้าหมายมากขนาดไหน? และมากเพียงใด?
กับ เป้าหมายปลายทางสุดท้าย…สร้าง “เศรษฐี (กองทุน) หมู่บ้าน” ให้ได้เกิดขึ้นและมีตัวตนจริงๆ ผ่านเส้นทางระหว่างก้าวเดิน ตามคอนเซ็ปท์…“สร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย เพิ่มคุณชีวิตที่ดีกว่า” แก่สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน
พร้อมกับ “ต่อจิ๊กซอว์” จาก…“ภายในกันเอง” (สมาชิกกองทุนหมู่บ้านซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน) จาก…“ภายในสู่ภายนอก” (ซื้อขายสินค้ากับคนนอกกองทุนหมู่บ้าน) และจาก…“ภายนอกสู่ภายใน” (ดึงเอาศักยภาพจากคน/องค์กรภายนอก มาเสริมสร้างและเติมเต็มความแข็งแกร่งให้กับกองทุนหมู่บ้าน)…ครบทั้ง 3 มิติ!

เป็นยุทธศาสตร์ที่ยากจะหาได้จาก…หน่วยงาน/องค์กรรัฐอื่นๆ
คนที่ติดตามข่าวสารของกองทุนหมู่บ้าน ตลอดช่วงเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมา คงคุ้นชินกับความเคลื่อนไหวที่ สทบ. ได้เดินเครื่องและลงมือทำกันไปบ้างแล้ว…
นอกจาก ผลักดันให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันเองและการขายสินค้าให้กับคนนอกกองทุนหมู่บ้านแล้วสทบ.ยุคนี้…ยังทำมากกว่าการให้กองทุนหมู่บ้านเป็นเพียง “สถาบันการเงินของชุมชน” ที่เคยเน้นเฉพาะการรับฝากเงินและปล่อยสินเชื่อแก่สมาชิกฯ
ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้ สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน…ได้มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้อย่างมั่นคง เข้มแข็ง และยั่งยืน พร้อมกับสร้างแนวทางการลดรายจ่ายไปในตัวเพื่อการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของคนในพื้นที่
ชดเชยและเยียวยา “บาดแผล” จากการเข้าไปหางานทำในเมืองหลวง สุดท้าย…วิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้คนไทย “ผู้ขายแรงงาน” กลุ่มใหญ่เหล่านั้น…เดินทางกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวในชนบทอีกครั้ง และอาจเป็นครั้งสุดท้ายของชีวิตพวกเขา!

จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเร้งสร้างช่องทางและเครื่องมือสำคัญ รองรับการ “กลับบ้าน” ของคนกลุ่มนี้…
นั่นจึงเป็น…กรอบความคิดและแนวทางทำงานของ สทบ.ยุคนี้ เพื่อสานต่อเป้าหมายและตอบ “โจทย์ใหญ่” ของรัฐบาล ให้ตรงจุดมากที่สุด!
จากนี้…สังคมไทยจะเห็นความหลากหลายของโครงการที่มากคุณค่าและได้รับการต่อยอดเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อวิถีชีวิตของผู้คนในทุกท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคและต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับชุมชนระดับฐานรากไปจนถึงเศรษฐกิจ “ภาพใหญ่” ในระดับมหภาค
ผ่าน…การออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน การขนส่งชุมชน การสร้างงานสร้างอาชีพ, การสร้างตลาดชุมชน ฯลฯโดยเฉพาะช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านเครือข่ายการตลาดออนไลน์ เช่นที่ สทบ.ได้เริ่มสร้างและเพิ่งเปิดตัวแอปพลิเคชั่น “ตลาดกทบ.” ไปแล้วก่อนหน้านี้
ว่ากันว่า…แอปฯ “ตลาด กทบ.” จะกลายเป็น แพลตฟอร์ม “มาร์เก็ตเพลส” ระดับชุมชนที่ดีที่สุด! สมาชิกเครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน 40 ล้านคน และคนนอกอีก 30 ล้านคน สามารถจะเข้าถึงพร้อมกันได้ง่ายๆ และได้คราวละจำนวนมาก…ระดับหลายสิบล้านคน

ซึ่งจะ สร้างโอกาสที่ดีกว่า ยั่งยืนมากกว่า นำสู่เป้าหมาย “สร้างงานสร้างอาชีพสร้าง รายได้ ลดรายจ่าย และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
กระทั่ง ก้าวสู่ปลายทางแห่งจุดมุ่งหมายสูงสุด! นั่นคือ สร้าง “เศรษฐี (กองทุน) หมู่บ้าน” ให้เกิดขึ้นและมีตัวตนจริงๆ
ทุกอย่างเริ่มต้น และก่อตัวขึ้นเป็นรูปร่างแล้ว จากนี้…ขึ้นอยู่ที่ว่า รัฐบาลและสภาพัฒน์ ในฐานะ แกนหลักของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะสัมผัสรับรู้และมองเห็นภาพแห่งโอกาสที่เกิดขึ้นจริง! และเป็นได้มากกว่าโครงการผลาญเงิน เช่น การขุดลอกคูคลอง การทำถนน ทำป้ายบอกทาง ฯลฯ ที่ไม่เพียงไม่ตอบ “โจทย์ใหญ่” ของรัฐบาล หากยังไม่ก่อความยั่งยืนต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากแต่อย่างใด…แค่ไหน?
ไม่ต้องจัดสรรงบประมาณในระดับที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน เคยเสนอไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎร เกือบ 8 หมื่นล้านบาท แค่ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ไม่ตัดทอน หรือเททิ้งงบประมาณที่ สทบ. ได้นำเสนอโครงการ และของบฯกันเอาไว้ใช้เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ผ่านกองทุนหมู่บ้านเพียงร้อยละ 10 หรือแค่ 4 หมื่นล้านบาท

แค่นี้…เศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนท้องถิ่น ก็สามารถจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีนัยสำคัญ คือ “เข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน” เป็นหลักประกันต่อการสร้างโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า ของสมาชิกกว่า 12.9 ล้านครัวเรือน หรือ ราว 40 ล้านคน ได้เป็นอย่างดีแล้ว
มากกว่านั้น…การขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจ ผ่านกิจกรรมการผลิตและการตลาดของกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของการใช้จ่ายเงินสดมากสุด ในระดับ 10-20 รอบของการหมุนเวียนเม็ดเงิน ตลอดช่วงเวลาที่เหลือ 6 เดือนเศษของปี 2563 นี้
นั่นหมายความว่า…เพียงเม็ดเงิน 4 หมื่นล้านบาท หากนำมาใช้จ่ายผ่านกองทุนหมู่บ้าน จะถูกขยายผล กลายเป็นการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ…ระดับฐานราก ได้มากถึง 4-8 แสนล้านบาท เลยทีเดียว
เห็นอย่างนี้แล้ว…รัฐบาลและสภาพัฒน์ โดยเฉพาะ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ คงต้องตัดสินใจ เลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องและเดินมาถูกทางกันแล้ว.