แอปฯไลน์ ตลาด กทบ. สร้างเศรษฐีหมู่บ้าน
เปิดตัวแอปพลิเคชั่น LINE “ตลาด กทบ.” ชี้! อาจเป็น “ตัวเร่ง” สร้าง “เศรษฐี (กองทุน) หมู่บ้าน” ขยายตัวได้เร็วขึ้น แถมมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ฉุดเศรษฐกิจภาพใหญ่ขยับในทิศทางที่ดีขึ้น เผย! ปีหน้า อาจได้เห็นตัวเลขซื้อขายสินค้ากองทุนหมู่บ้านพุ่งแตะระดับหลายพันล้านบาท
เข้าใกล้ไปทุกขณะ! สำหรับสถานภาพ “เศรษฐี (กองทุน) หมู่บ้าน” ที่รัฐบาล…โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) และ นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผอ.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) คาดหวังจะเห็นบางส่วนของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศกว่า 12.9 ล้านคน จากจำนวนกองทุนฯทั้งหมด 79,604 กองทุน…กลายเป็น “เศรษฐีหมู่บ้าน” ตัวจริง!
หลังจากได้ต่อ “จิ๊กซอว์” หลายๆ ตัว ตั้งแต่การสร้างแหล่งทุน การยกระดับการผลิตและออกแบบ การหาตลาดรูปแบบใหม่ๆ และอื่นๆ อีกมากมาย
วันนี้…สังคมไทย เริ่มมองเห็นภาพอนาคตที่ชัดเจน! ของกองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งยึดโยงหลักคิด “สร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” แก่สมาชิกฯ คู่ขนานไปกับการวางรากฐานของระบบเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืน ตามแนวนโยบาย “Local Economy” (การผลักดันเศรษฐกิจภายในประเทศ) ที่รัฐบาลได้ผลักดัน นับแต่วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น
จากเดิมที่เคยเน้นหนักความเป็น “สถาบันการเงินของชุมชน” ทว่าวันนี้…กองทุนหมู่บ้านฯ ได้ก้าวสู่ความเป็น “ศูนย์เรียนรู้” ในหลากหลายมิติ เพื่อให้สมาชิกฯได้นำองค์ความรู้เหล่านั้น ไปต่อยอดบนความถนัดที่แต่ละคนจะมี เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย ตรงกับความต้องการของลูกค้าปลายทาง
การเปิดตัวแอปพลิเคชั่น LINE ในชื่อ “ตลาด กทบ.” อย่างเป็นทางการ ณ พื้นที่กองทุนหมู่บ้านวังปลาไหล อ.บ้านนา จ.นครนายก เมื่อช่วงสายวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้สร้างปรากฏการใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมา และจะมากยิ่งขึ้นในวันต่อๆ ไป
ปรากฏการณ์ที่ได้เห็นในวันนั้น…คือ คำสั่งซื้อข้าวสาร “หอมมะลิ” บรรจุถุง (5 ก.ก.) แบรนด์ “กทบ.” จำนวน 1,100 ถุง มูลค่ากว่า 2.2 แสนบาท ผ่านแอปพลิเคชั่น LINE “ตลาด กทบ.” ที่โชว์ให้เห็นถึงการติดต่อซื้อขายกันสดๆ ต่อหน้าสักขีพยานจำนวนมาก ระหว่าง “ผู้ซื้อ” บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง และ “ผู้ขาย” กองทุนหมู่บ้านวังปลาไหล
เบื้องต้น…มีการปรับหมวดหมู่ของสินค้าใหม่ประกอบด้วย…ข้าวสาร (กด 1), น้ำดื่ม (กด 2 ), ผ้า/เสื้อผ้า (กด 3), ผลไม้/อาหารแปรรูป (กด 4), ขนมขบเคี้ยว (กด 5), ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (กด 6), เครื่องใช้/ของตกแต่ง (กด 7) และ ผลิตภัณฑ์บำรุงดิน(กด 8)
หากต้องการซื้อสินค้าในกลุ่มไหน ก็เลือกกดหมายเลขนำหน้านั้นๆ
นายรักษ์พงษ์ ระบุว่า แอปพลิเคชั่น LINE “ตลาด กทบ.” คือการเพิ่มช่องทางซื้อและขายสินค้าของสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ทั้งซื้อขายกันเอง และขายให้กับคนภายนอก โดย สทบ.มอบหมายให้สาขาทั่วประเทศ ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกกองทุนฯได้รับรู้ถึงแผนงานดังกล่าว พร้อมกับเชิญชวนเข้าร่วมกลุ่มไลน์ ควบคู่ไปกับการจัดหาและรวบรวมสินค้า แบรนด์ “กทบ.” นำไปบรรจุอยู่ใน แอพพลิเคชั่น LINE “ตลาด ก.ท.บ.” ภายใต้แนวคิด…รวมพลังสมาชิก กทบ. สร้าง “เศรษฐีหมู่บ้าน”
“การซื้อขายสินค้ากองทุนหมู่บ้านผ่านช่องทางการตลาดใหม่ๆ คือ สิ่งที่ผมอยากจะเห็นอย่างมาก อยากเห็นนับแต่วันที่ได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็น ผอ.สทบ.แล้ว และวันนี้…การซื้อขายข้าวฯผ่านแอปพลิเคชั่น LINE “ตลาด กทบ.” ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว หวังว่า…จากนี้ไป สมาชิกกองทุนฯ ซึ่งเป็นได้ทั้ง “ผู้ซื้อและผู้ขาย” จะสนใจสมัครกันเข้ามาใช้ช่องทางการตลาดนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเป็น “ผู้ขาย” สามารถสมัครเข้าร่วมเครือข่ายฯ ผ่าน QR Code “เศรษฐี กทบ.” เพราะเมื่อขายสินค้าได้ ก็จะมีรายได้เข้ามา สามารถจะเพิ่มกำลังการผลิต พร้อมกับปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย เพื่อให้ขายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก” นายรักษ์พงษ์ ระบุและว่า
ขณะที่กลุ่ม “ผู้ซื้อ” นั้น ตนและผู้บริหารของ สทบ. รวมถึงผจก.สาขาทั่วประเทศ จะพยายามสื่อสารและเชิญชวนให้ภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป สมัครเข้าร่วมเครือข่ายฯ ผ่าน QR Code “ตลาด กทบ.” โดยทั้ง 2 กลุ่ม…สามารถจะติดต่อเพื่อทำการสอบถามข้อมูลและซื้อสินค้าระหว่างกันได้
ด้าน นายประสาร เต็มเปี่ยม ปธ.กองทุนหมู่บ้านวังปลาไหล เผยว่า รู้สึกดีใจที่ ผอ.สทบ.กลับมาเยี่ยมกองทุนฯแห่งนี้อีกครั้ง พร้อมกับนำคำสั่งซื้อข้าวสารฯ ผ่าน แอปพลิเคชั่น LINE “ตลาด กทบ.” มาช่วยในการสร้างยอดขายให้กับกองทุนฯ นอกจากทำให้สมาชิกกองทุนฯ ได้มีงานทำและมีรายได้แล้ว ยังช่วยให้กองทุนฯมีเงินไปซื้อสินค้าวัตถุดิบจากเพื่อนสมาชิกและชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นการเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี
ส่วน น.ส.นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ผช.กก.ผจก. บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง กล่าวว่า บริษัทฯได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) มาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาก็นำสิ่งของที่จำเป็นไปมอบให้กับชาวบ้านที่ยากไร้ รวมถึงมอบอุปกรณ์การศึกษาแก่นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล แต่สำหรับครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสพิเศษที่บริษัทฯได้สั่งซื้อสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิต ซึ่งก็คือ…กองทุนหมู่บ้านวังปลาไหล โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และจะนำข้าวสารบรรจุถุงจำนวน 1,100 ถุง หรือ 5.5 ตันนี้ ไปมอบให้กับชาวบ้านในชุมชนย่านศรีย่านและราชวัตร เพราะเป็นที่ตั้งและจุดเริ่มต้นของบริษัทฯนับแต่อดีต
“มันเหมือนเป็นการ ได้ทำบุญ 2 ต่อ คือ หนึ่งได้ ช่วยเหลือสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ เพราะสามารถสั่งซื้อสินค้าโดยตรงแบบไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง อีกหนึ่งคือ การได้นำข้าวสารเหล่านั้น ไปบริจาคให้กับชาวชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ตั้งสำนักงานของบริษัทฯ เชื่อว่าการทำให้เห็น เป็นตัวอย่างแก่ภาคเอกชนอื่นๆ จะช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อสินค้าของกองทุนหมู่บ้านต่างๆ ได้ ส่วนตัวจะพยายามมองหาสินค้ากองทุนหมู่บ้านอื่นๆ เพื่อสั่งซื้อไปใช้ทั้งในกิจกรรมตามวาระปกติ และในวาระพิเศษต่างๆ ทั้งนี้ หากเป็นไปได้ อยากให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาจัดทำสินค้าชุดของฝากของขวัญ สำหรับส่งมอบในเทศกาลสำคัญๆ เช่น เทศกาลปีใหม่ และเทศกาลสำคัญอื่นๆ ซึ่งบริษัทฯพร้อมจะสั่งซื้อสินค้าเหล่านี้ เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ แทนที่จะไปซื้อสินค้าจากห้างสรรพสินค้าทั่วไป” น.ส.นฤชล ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การทำตลาดและสร้างยอดขายผ่านแอปพลิเคชั่น LINE “ตลาด กทบ.” ที่แม้จะเริ่มเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 มิ.ย.2563 แต่ได้ทำการสื่อสารเป็นการภายใน พร้อมกับบอกต่อไปยังเครือข่ายภาคธุรกิจและกลุ่มสื่อมวลชน ในสายคอนเน็กชั่นของ นายรักษ์พงษ์ มาก่อนแล้ว
ท่ามกลางภาวะที่ผู้คนในสังคมไทย ยังคงตื่นตระหนกกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้โอกาสความสำเร็จจากการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้ากองทุนหมู่บ้านฯ ผ่านแอปพลิเคชั่น LINE “ตลาด กทบ.” ย่อมมีสูง! จึงไม่แปลกที่ ทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังการทำตลาดรูปแบบใหม่นี้ จะคาดหวังยอดขายสินค้ากองทุนหมู่บ้านในช่วง 6-7 เดือนที่เหลือของปีนี้ ในระดับหลักร้อยล้านบาทขึ้นไป และในปี 2564 กับตัวเลขยอดขายที่คาดหวังว่าจะ…ทะยายไปสู่ในระดับหลายพันล้านบาท
ด้วยหลักคิดและเหตุผลที่ว่า…กองทุนหมู่บ้านมีมากถึงกว่า 7.9 หมื่นกองทุน มีสมาชิกกองทุนฯมากกว่า 12.9 ล้านครัวเรือน และหากนับเป็นจำนวนคน พบว่า…มีสมาชิกรวมกันมากถึง 40 ล้านคน
แค่สมาชิกของแต่ละกองทุนหมู่ฯ ช่วยอุดหนุนสินค้ากันเอง เช่นที่ นายรักษ์พงษ์ ยกตัวอย่าง…กองทุนหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ขายข้าวสารใน 1 ปี ได้ 1 แสนถุงๆ ละ 200 บาท กองทุนหมู่บ้านนั้น…จะมีรายได้ปีละ 20 ล้านบาท หักต้นทุนทุกอย่าง เหลือเป็นกำไรเบื้องต้นของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ และจะทำให้สมาชิกมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตต่อเนื่องและยาวนาน อย่างมั่นคงและยั่งยืน
หาก ผู้เกี่ยวข้องกับกองทุนหมู่บ้านทั้ง 7.9 หมื่นแห่ง “ร่วมด้วยช่วยกัน” อุดหนุนสินค้าของกองทุนหมู่บ้าน ประกอบการดึงเอาศักยภาพของภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ มาร่วมแสดงพลัง…อุดหนุนสินค้ากองทุนหมู่บ้านอย่างจริงจังแล้ว ตัวเลขของยอดขายในปีต่อๆ ไป ระดับพันล้านบาท…ก็อาจจะน้อยไป
มากกว่านั้น…เป้าหมายที่จะได้เห็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อเป็นกำลังสำคัญเสริมสร้างความเข้มแข็งในภาพใหญ่ของระบบเศรษฐกิจระดับมหภาค ย่อมอยู่ไม่ไกลเกินไปนัก
ปรากฏการณ์ รวมพลังสมาชิก กทบ. เพื่อสร้าง “เศรษฐี (กองทุน) หมู่บ้าน” เช่นที่ นายสมคิด และนายรักษ์พงษ์ อยากจะได้เห็นในเร็ววัน…อาจเกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่คาดคิดกันไว้ เพราะหากยอดขายสินค้ากองทุนหมู่บ้านในปีนี้ และปีหน้า เป็นเช่นที่…ทีมงานผู้อยู่เบื้องหลัง แอปพลิเคชั่น LINE “ตลาด กทบ.” แอบหวังเล็กๆ ผ่านความพยายามผลักดันอย่างเต็มกำลังความสามารถ เป็นจริงแล้วล่ะก็…
“เศรษฐี (กองทุน) หมู่บ้าน” ก็อาจอยู่ใกล้แค่เอื้อม! เพียงแต่ทุกฝ่าย…ต้อง “ร่วมด้วยช่วยกัน” อย่างจริงจังและจริงใจ.