ดึงประกันภัยเสริมแกร่งกองทุนหมู่บ้าน
จ่อนำระบบประกันภัยมาสร้างหลักประกันให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ 12.9 ล้านครัวเรือน.เผย! คปภพร้อมเปิดกว้างรองรับทุกการประกันภัยและความต้องการของกองทุนฯ ชี้! เริ่มที่ประกันภัยกลุ่ม ถูกสุดแต่คุ้มครองคุ้มค่า ด้าน สทบ.เตรียมชงเรื่องให้ รองฯสมคิด ในฐานะ ปธ.กทบ. กดปุ่มสั่งการ
ความเคลื่อนไหวของ เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองฯกว่า 7.9 หมื่นแห่งทั่วประเทศ กับจำนวนสมาชิกกว่า 12.9 ล้านครอบครัว หรือราว 40 ล้านคน ในช่วงเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมานั้น เป็นอะไรที่น่าจับตามองอย่างมาก…โดยเฉพาะกับบทบาทในอนาคตอันใกล้นับจากนี้…
เพราะเพียงแค่พวกเขาขยับ…ก็ทำระบบเศรษฐกิจ ทั้งในภาพใหญ่และระดับฐานราก…สะเทือนได้!
ความล้มเหลวหรืออยู่รอด กระทั่ง เติบโตจนกลายเป็นอีกหนึ่ง “เสาหลัก” สำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชุมชน เช่นที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) คาดหวังจะใช้กองทุนหมู่บ้านฯ เป็นหัวจักรสำคัญในการดำเนินงาน ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนนั้น
จำเป็นจะต้องเร่งต่อยอดและเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับพวกเขาโดยเร็ว
การนำระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อสร้างหลักประกันในทุกมิติ ทั้ง “ชีวิต ทรัพย์สิน สุขภาพ ธุรกิจ และอื่นๆ” แก่สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมาก ทว่า…ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมองเห็นสิ่งเหล่านี้หรือไม่?
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมกิจการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ระบุว่า สำนักงาน คปภ. มองเห็นสิ่งนี้ และได้เดินทางเข้าพบกับ นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผอ.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) มาก่อนหน้านี้แล้ว พร้อมกับเสนอในเชิงเปิดกว้างให้กับ สทบ.และกองทุนหมู่บ้านฯ ได้พิจารณาถึงการนำระบบประกันภัยมาใช้ ซึ่งทาง สทบ.ก็ไม่ติดขัดอะไร เพียงแต่รอเสนอให้คณะกรรมการ กทบ.ได้พิจารณาก่อน ทั้งนี้ กองทุนหมู่บ้านฯสามารถจะนำระบบการประกันภัย ไปช่วยลดความเสี่ยงให้กับความหลากหลายในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของกองทุนฯ เพราะมีทั้งงานด้าน การเกษตร หัตถกรรม การผลิตในระดับวิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยว และอื่นๆ รวมถึงรูปแบบการประกันภัยอุบัติเหตุแบบกลุ่ม ซึ่งจะมีค่าเบี้ยประกันภัยที่ต่ำมากๆ แต่ให้ความคุ้มครองที่คุ้มค่า
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน คปภ. คงไม่ดูเฉพาะแค่กองทุนหมู่บ้านฯ เนื่องจากภารกิจของกองทุนหมู่บ้านฯ มีบางส่วนไปเกี่ยวพันกับกลุ่มกิจกรรมอื่นๆ ดังนั้น จึงมอบหมายให้ คปภ.ภาค 7 และ คปภ.จังหวัดเพชรบุรี ดำเนินการโครงการนำร่อง เพื่อพิจารณาและออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และกิจกรรมของคนในพื้นที่ โดยลงไปสำรวจว่าควรจะสร้างผลิตภัณฑ์ประกัยภัยอะไรบ้าง เช่น ประกันภัยมะนาว และประกันภัยมะนาวชมพู่ เนื่องจากพื้นที่ จ.เพชรบุรี มีการเพาะปลูกกันมาก
“ได้สั่งการให้ คปภ.ภาค 7 นำร่องจัดทำผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ โดยต้องลงไปสำรวจดูว่าในพื้นที่นั้นๆ ชาวบ้านเพาะปลูกหรือทำกิจกรรมใดๆ ในเชิงพาณิชย์ แต่คงไม่ใช่การทำประกันภัยต้นตาล แม้พื้นที่ จ.เพชรบุรี ขึ้นชื่อเรื่องน้ำตาลโตนด แต่ไม่ได้เพาะปลูกต้นตาลในเชิงพาณิชย์ เป็นแค่เพียงการปลูกในพื้นที่หัวไร่ปลายนาเท่านั้น ซึ่งหากประสบผลสำเร็จ สำนักงาน คปภ. จะใช้รูปแบบเดียวกันนี้ ขยายผลไปยัง คปภ.ภาคอื่นๆ และจังหวัดอื่นๆ ตามไป” เลขาธิการ คปภ. ย้ำ
ด้าน นายรักษ์พงษ์ กล่าวว่า สทบ.สนใจและให้ความสำคัญกับการนำระบบประกันภัยมาสร้างหลักประกันแก่สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯที่มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรและกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ เบื้องต้นจะนำเสนอให้ นายสมคิด ในฐานะประธาน กทบ.ได้พิจารณา ซึ่งเชื่อว่าคงจะเห็นด้วย และในอนาคตอันคงต้องเชิญ คปภ.มาหารือและดำเนินการนำระบบประกันภัยมาให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯได้ใช้อย่างเหมาะต่อไป.