ธนารักษ์นำแจกอาหารกล่องทุกชุมชนเมืองทั่วไทย
ธนารักษ์ ดึง “ธพส.-ธอส.” ร่วมแจกอาหารกล่องให้เหยื่อพิษโควิดฯในชุมชนเมืองทั่วประเทศ ตั้งเป้ามอบ 100ชุด/วัน/จังหวัด เน้นคนตกงานและรายได้หาย พร้อมจ้างร้านขายอาหารรายย่อย ผลิตแบบกระจายรายได้ ป้องกันการผูกขาด พร้อมจัดส่งธนารักษ์พื้นที่ ก่อนแจกจ่ายกลุ่มเป้าหมายตัวจริง เริ่ม 15 มิ.ย.นี้
นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า กรมฯได้ดำเนินโครงการจัดอาหารกล่องแจกจ่ายให้ผู้เดือดร้อนจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ร่วมกับ บจ.ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ (ธพส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยเน้นพื้นที่ชุมชนเมืองทั่วประเทศ เนื่องจากการจัดหาอาหารทำได้ยากและมีราคาแพงกว่าในชนบท เหมาะสำหรับคนตกงานและรายได้ลดลงอย่างมาก เบื้องต้นกำหนดอาหารกล่อง 100 ชุดต่อวันต่อจังหวัด มอบหมายให้ธนารักษ์พื้นที่และข้าราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง ที่เคยทำหน้าที่ “ผู้พิทักษ์สิทธิ์” ตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ออกสำรวจกลุ่มเป้าหมายที่เดือดร้อนจริงๆ
พร้อมจัดหาร้านค้ารายย่อยที่ประกอบอาชีพขายอาหาร แต่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ จนรายได้ลดลง เพื่อว่าจ้างให้ผลิตอาหารกล่องในแต่ละพื้นที่มากกว่า 1 ราย โดยให้สลับหมุนเวียนในการจัดทำอาหารกล่อง เป็นการกระจายรายได้และลดการผูกขาด รวมถึงสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงาน พร้อมจัดส่งอาหารกลองให้กับธนารักษ์พื้นที่ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นต่อไป ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เที่ยงวันที่ 15 มิ.ย.เป็นต้นไป
“บ่ายนี้ ผมจะประชุมวีดิโอ คอนเฟอร์เร้นท์ ร่วมกับธนารักษ์พื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อกำหนดนโยบายในการดำเนินโครงการนี้ เบื้องต้น กรมธนารักษ์จะใช้งบประมาณราว 2 ล้านบาท และขอให้ ธพส.และธอส.ร่วมสมทบทุน ส่วนจะเป็นเท่าใด คงต้องรอหารือในกันอีกครั้ง เชื่อว่านอกจากกรมธนารักษ์แล้ว คงมีหน่วยงานอื่นๆ ในสังกัดกระทรวงการคลัง และกระทรวงอื่นๆ ดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การแจกจ่ายอาหารกล่องเพียงพอต่อความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย” นายยุทธนา ระบุและว่า
ก่อนหน้านี้ กรมธนารักษ์ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและกลุ่มผู้เช่าที่ราชพัสดุที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ ด้วยการมอบสิ่งของจำเป็น เช่น อาหารกลางวัน น้ำดื่ม แอลกอฮอล์ทำความสะอาด รวมถึงข้าวสาร อาหารแห้ง พร้อมกับจัดมอบตู้ปันสุขภายใต้กิจกรรม “ธนารักษ์ปันสุข” จำนวน 6 แห่ง และคอยเติมสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันในทุกสัปดาห์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน.