“จิ๊กซอว์”ความสำเร็จ จาก กทบ.สู่เศรษฐกิจฐานราก
ทริปภาคเหนือกองทุนหมู่บ้านฯของ สทบ.รอบนี้ นำสู่การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกองทุนฯ 12 จังหวัด “เหนือ-อีสาน” ที่ จ.สุโขทัย พ่วงการกดปุ่มเปิดโรงงานผลิตน้ำ กทบ.และการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ สร้างแสงสว่างให้ชาวไทยภูเขา จ.ตาก ถือเป็นอีกหนึ่ง “จิ๊กซอว์” เติมความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน ต่อยอดเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง สร้างรากฐานสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน
ภารกิจของ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าคืบไปข้างหน้าอย่างมีนัยสำคัญ “จิ๊กซอว์” หลายๆ ตัว ได้ถูกนำมา “ต่อ” ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้มองเห็น “ภาพอนาคต” ที่สัมพันธ์ไปกับการสร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ในลักษณะ…เข้มแข็ง ยั่งยืน เคียงคู่สังคมไทย
ทั้งในมิติ…ภายในกันเอง จากภายนอกสู่ภายใน และจากภายในสู่ภายนอก
มากชนิดที่…หากไม่เกาะติดข่าวสารข้อมูลอย่างจริงจังแล้ว คงมิอาจตามติดความเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ได้อย่างเท่าทัน
ไม่เพียง “พันธมิตรใหม่ๆ” ที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และประธาน กทบ. ปูทางและสั่งการให้ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ภายใต้การกำกับดูแลของ นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผอ.สทบ. ได้ดึงเข้าร่วมบูรณาการทำงานไว้ด้วยกัน…
หน่วยงานที่กำกับดูแลที่ดินของรัฐทั่วประเทศ (ที่ราชพัสดุ) เช่น…กรมธนารักษ์ ปัจจุบันได้ดำเนิน โครงการเปลี่ยนชุมชนเป็นห้องประชุมในที่ราชพัสดุ และจัดสร้างตลาดชุมชนเพื่อประชาชน หวัง ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย พร้อมกับสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ได้เข้าร่วม “ต่อยอด” ภารกิจของตนกับ กทบ. นับจากนี้ไป…
บางโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้…ถือเป็น “งานระดับชาติ” เลยทีเดียว
สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อย่าง…ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ส.ก.) จะถูกเชื่อมต่อในฐานะ “แหล่งทุน” ที่หากจำเป็น…กองทุนหมู่บ้านฯและสมาชิกกองทุนฯ สามารถ “กดปุ่ม” ขอรับสินเชื่อภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างกัน…ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ วัน
ที่กำลังตามมา คือ บมจ. ปตท.และบริษัทในเครืออย่าง…ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ซึ่ง นายสมคิด วาดหวังจะเห็น…สินค้าของกองทุนหมู่บ้านฯ ถูกนำมาจำหน่ายผ่านปั๊มน้ำมัน ปตท. ที่กระจายตัวไปทั่วประเทศ ซึ่งนั่น จะทำให้โอกาสในการขายสินค้าของผู้ผลิต (เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านฯ) และโอกาสในการซื้อของผู้บริโภค มาบรรจบกันบริเวณ “จุดตัด” ระหว่าง…ดีมานด์และซัพพลาย ภายในปั๊มน้ำมัน ปตท.
ไม่เพียงแค่นั้น…ยังมีสายสัมพันธ์ส่วนตัวที่ นายรักษ์พงษ์ นำมาเสริมความแกร่งให้กับภารกิจเบื้องหน้า ที่เห็นจากข่าวก่อนหน้านี้ คือ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นแล้วและที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา ระหว่าง สทบ.กับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกิจ (สศอ.) และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่มุ่งเน้นในเรื่องการยกระดับมาตรฐานการผลิต การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยในการผลิตสินค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ ฯลฯ รวมถึงการสร้างช่องทางการตลาดใหม่ๆ ทั้งผ่านระบบออฟไลน์และออนไลน์
ความร่วมมือกับ บริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่คงได้เห็นการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในเร็ววันนี้เช่นกัน สิ่งนี้…รองรับภาคการขนส่งสินค้า ระหว่างเมือง ระหว่างภูมิภาค เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ทั้งในระดับมูลค่าที่ไม่สูงนัก จนถึงระดับ “บิ๊กล็อต” ทำได้ง่ายขึ้น ประหยัดเวลา ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงไป
ยังไม่นับรวมสายสัมพันธ์อันดีกับ เพื่อนสื่อมวลชนชั้นนำของประเทศ ที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเผยแพร่และนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับบทบาท หน้าที่ และภารกิจของ สทบ. ไปสู่สังคมไทย ทำให้ “ภาพต่อ” ที่เคยเลือนรางของกองทุนหมู่บ้านฯ เริ่มเห็นเด่นชัดมากขึ้นทุกขณะ และทำให้ความร่วมมือทั้งในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับภูมิภาค เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทริปล่าสุด! นายรักษ์พงษ์ นำคณะและสื่อมวลชน ลงพื้นที่ภาคเหนือ…จ.สุโขทัย และ จ.ตาก ระหว่างวันที่ 4-6 มิ.ย.ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า…สทบ.ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมากมายขนาดไหน? ส่วนหนึ่ง…เป็นเพราะกระแสข่าวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้
ที่ จ.สุโขทัย นายสุชาติ ทีคะสุข รอง ผจว.สุโขทัย เดินทางมาร่วมกิจกรรม “ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า” ระหว่างสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งจัดว่าใหญ่ที่สุดและมีจังหวัดที่เข้าร่วมงานมากที่สุดถึง 12 จังหวัด นับแต่ที่เคยจัดงานฯกันมา และถือเป็นบทพิสูจน์สำคัญที่สะท้อนภาพความเชื่อมโยงของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ
พื้นที่ภาคเหนือ…มี สินค้าสุดยอดผลิตภัณฑ์ของชุมชนระดับแนวหน้า จาก จ.กำแพงเพชร ตาก น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ และสุโขทัย ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยกสินค้า “ของดี-ของเด่น” จาก จ.อุดรธานี สกลนคร เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ เข้าร่วมงานในครั้งนี้
ต่อด้วยการ เปิดโรงงานผลิตน้ำดื่มเพื่อชุมชน แบรนด์ กทบ. ของกองทุนหมู่บ้านร่มเกล้าสหมิตร ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ จ.ตาก ที่ๆ รวมคนไทยและชาวชาติพันธุ์กว่า 6 ชนเผ่าเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมเกลียว นอกจากนี้…กองทุนหมู่บ้านฯแห่งนี้ ยังได้ดำเนินธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค รวมถึงจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูป
นายอธิวัฒน์ ศุคระศักดิ์สิทธิ์ ประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านร่มเกล้าสหมิตร บอกว่า แต่ละเดือนกองทุนฯมีรายได้ต่อเดือนเกือบ 5 ล้านบาท แบ่งเป็น…ยอดขายน้ำมัน 4 ล้านบาท ยอดขายสินค้าในร้านค้าฯอีกราว 5 แสนบาท หากรวมน้ำดื่ม กทบ.ที่ผลิตได้เองแล้ว ไม่เพียงจะช่วยลดการสั่งซื้อน้ำดื่มมาจำหน่ายและทำตลาดร่วมกับการจำหน่ายน้ำมันอีกเดือนละกว่า 2 หมื่นบาท แต่ยังจะมีรายได้จากยอดขายปลีกและขายส่งน้ำดื่มฯ เพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทอย่างแน่นอน
และที่ดูเหมือน นายรักษ์พงษ์ จะภูมิใจเป็นที่สุด! คงไม่พ้น การพิจารณาอนุมัติโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2563 ที่ได้ดำเนินการแล้ว…หลังจากได้มีการโอนงบประมาณ 200,000 บาท โดยกองทุนหมู่บ้านห้วยมะพร้าว ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก ภายใต้การนำของ นายศักดิ์สิทธิ์ มติกวิน ประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน ต.แม่ตื่นฯ ที่ได้นำงบประมาณดังกล่าวไปจัดซื้อเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าและอุปกรณ์ในการติดตั้งและกระจายไฟฟ้าให้กับกลุ่มหมู่บ้านของกองทุนหมู่บ้านห้วยมะพร้าว
เนื่องจากพวกเขาไม่มีไฟฟ้าใช้มาเกือบ 200 ปี ทำให้วิถีชีวิตของชาวชุมชนแห่งนี้…มีความลำบากอย่างมาก
ทว่าความมืดมิดเหล่านั้น…ได้สูญสลายไปเพราะแสงสว่างที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างชุมชนฯกับ สทบ. นำสู่ความสำเร็จที่ได้รับตามมา นั่นคือ…ชาวบ้าน 56 หลังคาเรือน ราว 280 คน ได้มีไฟฟ้าใช้ และสามารถจะเข้าถึงโอกาสในการทำงาน ทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน
“ผมได้เร่งดำเนินการโครงการต่างๆ ที่เป็นนโยบายในการเสริมสร้างรายได้ ลดรายจ่ายให้กับพี่น้องกองทุนหมู่บ้านฯ สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจฐานราก สร้างชุมชนเข้มแข็งและต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่มีอยู่กว่า 13 ล้านคนทั่วประเทศ โดยได้พาสื่อมวลชนมาติดตามเพื่อให้มีการเผยแพร่เป็นตัวอย่าง และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด” ผอ.สทบ. ย้ำ
ไม่เพียงแค่นั้น นายรักษ์พงษ์ ยังได้สั่งการให้ทีมงานฯ เร่งดำเนินการจัดสร้างช่องทางการตลาดและการขายสินค้าของกองทุนหมู่บ้านฯ ผ่านช่องทางใหม่ๆ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ นอกจาก…การขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ช ผ่านเฟซบุ๊ก ผ่านอี มาร์เก็ตเพลส ฯลฯ แล้ว
ล่าสุด สทบ. อยู่ระหว่างการจัดสร้าง กลุ่มไลน์ “พลังสมาชิก…ตลาด กทบ.” โดยรวบรวมสินค้าและบริการ ภายใต้แบรนด์ “กทบ” ที่เครือข่ายสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯผลิตขึ้นมา เพื่อให้สมาชิกฯสามารถสั่งซื้อสินค้าระหว่างกันได้ง่ายๆ เพียงกดหมายเลขนำหน้ากลุ่มสินค้า เช่น…
กด 1 ติดต่อ สั่งซื้อ ข้าว กทบ.
กด 2 ติดต่อ สั่งซื้อ น้ำดื่ม กทบ.
กด 3 ติดต่อ สั่งซื้อ หน้ากาก กทบ.
กด 4 ติดต่อ สั่งซื้อ ผลไม้ กทบ.
กด 5 ติดต่อ สั่งซื้อ อาหารทะเล กทบ.
กด 6 ติดต่อ สั่งซื้อ ชุดเครื่องครัว กทบ.
กด 7 ติดต่อ สั่งซื้อ สเปรย์ปรับอากาศ กทบ.
พร้อมกับปรัชญาการทำงานร่วมกัน ที่ว่า… รวมพลังสมาชิก กทบ. สร้าง “เศรษฐีหมู่บ้าน”
แน่นอนว่า…สิ่งที่ นายรักษ์พงษ์ และสทบ.ทำมาตลอดในช่วง 2-3 เดือนนั้น ย่อมสร้างหลักประกันชั้นดีให้กับ สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯเกือบ 40 ล้านคน จาก 12.9 ครัวเรือน ใน 7.9 หมื่นกองทุนฯ ทั่วประเทศ ได้เข้าใกล้โอกาสการมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งๆ ขึ้น…มากขึ้นทุกขณะ
โอกาสจะได้รับการต่อยอด นำไปสู่เป้าหมาย…“สร้างงาน เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ก็อยู่ไม่ไกลนัก!
และส่วนหนึ่งที่อาจเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้…นายรักษ์พงษ์ และสทบ.ยุคนี้ ได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น…ฝ่ายปกครอง (มหาดไทย) องค์การบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานต่างสังกัด ต่างกระทรวง ภาคธุรกิจในพื้นที่ต่างๆ ภาคประชาชน เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านฯ รวมถึงสื่อมวลชน
นั่นเพราะ…ความไม่ถือตัวและติดดินของ นายรักษ์พงษ์
หลายครั้ง…ที่เขามักจะแสดงความรู้สึกจากส่วนลึกภายใน และประกาศให้ทุกคนได้ยินทั่วกันว่า… “ไม่ใช่พวกท่านมาขอบคุณผม แต่เป็นผมที่จะต้องขอขอบคุณพวกท่าน ที่ได้จัดงานในลักษณะนี้ แล้วชวนให้ผมได้มาร่วมงานฯ”
…ได้ใจ! ไปเต็มๆ
มากกว่านั้น…เป็น นายรักษ์พงษ์ ที่มักจะเชิญชวนให้ ผู้นำและสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ได้ไปเยี่ยมเยียนถึงสำนักงาน ชั้น 24 อาคารจัสมิน ถ.แจ้งวัฒนะ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี หากมีโอกาสเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพราะอยู่ไม่ไกลกันนัก…ไปใช้ห้องประชุมสำหรับการหารือหรือพูดคุยงาน หรือใช้เป็นจุดนัดพบและพักผ่อน ระหว่างรอปฏิบัติภารกิจใดๆ ก็ตาม
สิ่งนี้…หล่อหลอมจนกลายเป็น “สิ่งเร้า” ผลักดันให้ นายรักษ์พงษ์ และ สทบ. ได้มีโอกาสจะสานต่อภารกิจ ตามเป้าหมายสูงสุดที่รัฐบาล และนายสมคิด ในฐานะ “ประธาน กทบ.” วาดหวังจะได้เห็น นั่นคือ การมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้เครือข่ายสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ได้มีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น ลดรายจ่ายลง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงเป็นกลไกสำคัญต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุนชม ส่งต่อสิ่งเหล่านี้…กระจายตัวไปทั่วประเทศ
จนกลายเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจฐานราก…ที่จะต้องเติมเต็มเพื่อความเข้มแข็งและคงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป
ยิ่งในยุคที่รัฐบาล จำเป็นต้องใช้ “ทุกสรรพกำลัง” เพื่อการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศ ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2019 (โควิด-19) เริ่มคลี่คลายลง ดังนั้น การสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งของกองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งสัมพันธ์กับผู้คนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ ย่อมจะมีส่วนสำคัญต่อการเติมเต็มและเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจไทย เช่นที่รัฐบาลและนายสมคิด…ต้องการ!
วันนี้…หากผู้คนจำนวนมาก ราวเกือบ 40 ล้านคน ในเครือข่ายสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯทั่วประเทศ…จะเอ่ยวลีที่ว่า “พวกเราจะไม่เดินอย่างเดียวดาย” (We’ll Never Walk Alone) ภายใต้การนำของ นายรักษ์พงษ์ ผอ.สทบ.คนนี้ อีกต่อไป…ก็คงไม่แปลกอะไรนัก!!!.