จ่อเสนอจ่ายเยียวยาตกหล่น 9 ล.คน

เผย! กลุ่มเปราะบางนำโด่งรับสิทธิ์รับเงินเยียวยารอบ “ตกหล่น” มากถึง 6.9 ล้านคน รองมาเป็นกลุ่มบัตรสวัสดิการ 1.2 ล้านคน
ขณะที่กลุ่มลงทะเบียนไม่สำเร็จ 1.7 ล้านคน ตัดซ้ำซ้อนเหลือแค่ 3 แสนคน ที่เหลือ 6.6 หมื่นคน เป็นกลุ่มประกันสังคม มาตรการ 33 ด้าน “ปลัดคลัง” ระบุ! เตรียมชงกลุ่มตกหล่นรอบสุดท้าย 9 ล้านคน เสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท คาดอย่างช้าไม่เกิน ก.ค.นี้ รับครบทุกคน ย้ำ! หากเงินขาดมือ จำเป็นต้องกู้มาเยียวยา

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง แถลงภายหลัง การประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลด้านผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อช่วงสายวันที่ 4 มิ.ย. ว่า ที่ประชุมได้มีหารือถึงแนวทางการดูแลเยียวยากลุ่มที่ยังตกหล่นอีกประมาณ 9 ล้านคน ครอบคลุมกลุ่มที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ กลุ่มบัตรคนจน กลุ่มเปาะบาง และกลุ่มประกันสังคม โดยหลังที่ประชุมฯได้พิจารณาจากฐานข้อมูลและข้อเท็จจริง ทำให้สามารถตัดความซ้ำซ้อนการได้ช่วยเหลือจากมาตรการอื่นแล้ว กระทั่ง คัดกรองกลุ่มต่างๆ แบ่งเป็น กลุ่มที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ 3 แสนคน กลุ่มบัตรสวัสดิการ 1.2 ล้านคน กลุ่มเปาะบาง ประกอบด้วย คนพิการ เด็กและคนชรา 6.9 ล้านคน และกลุ่มประกันสังคมอีก 6.6 หมื่นคน ที่เป็นกลุ่มคนที่ตกงาน แต่ยังจ่ายรายเดือนค่าประกันสังคมยังไม่ครบ 6 เดือน จึงไม่ได้รับสิทธิ์ประกันสังคม

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดนี้ จะได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการกลั่นกรองใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท พิจารณาและเห็นชอบ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาและเห็นชอบ ส่วนจะจ่ายเงินเท่าไหร่คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองภายในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อดำเนินการช่วยเหลือเยียวยา 9 ล้านคน ซึ่งจะถือเป็นการช่วยเหลือนี้ตามมาตรการเยียวยาเป็นกลุ่มสุดท้ายแล้ว
“รัฐบาลมีเงินและสามารถจ่ายได้เลย แต่หากไม่เพียงพอ ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะดำเนินการกู้เงินเพิ่มเพื่อนำมาจ่ายให้เร็วสุด คาดว่าอย่างช้าจะจ่ายได้ภายในเดือน มิ.ย. ไม่เกินเดือน ก.ค. อย่างแน่นอน” ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุและว่า สำหรับการช่วยเหลือคนกลุ่มสุดท้ายจำนวน 9 ล้านคนนั้น แต่ละกลุ่มอาจได้เงินไม่เท่ากัน โดยจะได้ตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท ทั้งนี้ รอให้คณะกรรมการกลั่นกรองตัดสิน และเสนอต่อ ครม.เสียก่อน

ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า จากการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้มาร้องทุกข์ ไม่ได้รับเงินเยียวยา พบว่า ณ วันที่ 1 มิ.ย.2563 ได้มีผู้ร้องทุกข์เข้าระบบแล้ว 1 แสนคน โดยจำนวนนี้ เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิ์ไปแล้ว 34,805 คน เป็นเกษตรกร 12,496 คน เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (6 เดือน) อีก 1,483 คน ดังนั้น จึงเหลือกลุ่มที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนหรือตกหล่นแค่ 6,472 คน โดยกลุ่มนี้ จะได้รับเงินเยียวยาในรอบสุดท้ายในเร็วๆ นี้.