ฝันสลาย! ตีตกลดภาษีรถยนต์ ชี้! ไม่เหมาะสม
สรรพสามิต “ตีตก” ลดภาษีรถยนต์ อ้างไม่เหมาะสมกับสถานการณ์นี้ ชี้! ไม่มีประโยชน์ต่อภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ ย้ำ! ราคาลดลงไม่เยอะแต่ผลลบกระทบวงกว้าง แนะซื้อรถยนต์ใหม่ได้เลย ด้านเอกชนยอมจำนนเหตุผล เตรียมหาช่องทางอื่นๆ กระตุ้นยอดขาย เผย! เตรียมเข้าพบ “นายกฯประยุทธ์” คุยต่อ 2 เรื่องใหม่ “รถเก่าแลกใหม่” และ “เลื่อนใช้มาตรฐานยูโร 5-6” เหตุเกี่ยวพันกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
ข้อเรียกร้องที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่ต้องการให้กรมสรรพสามิต ลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ลงร้อยละ 50 เพื่อกระตุ้นยอดขายของผู้ประกอบรถยนต์ และกำลังซื้อของประชาชน รวมถึงรักษาซัพพลายเชน (ดีลเลอร์) และแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่มีรวมกัน 7 แสนคน ถูกปฏิเสธด้วยข้อเท็จจริง ระหว่างเข้าร่วมประชุม โดยมี นายพัชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต และคณะผู้บริหารของกรมฯ กับตัวแทนของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ณ ห้องประชุมชั้น 5 กรมสรรพสามิต
นายพัชร ให้เหตุผลว่า หากกรมฯพิจารณาตามข้อเสนอของภาคเอกชน พบว่าอัตราภาษีที่ลดลงจะไม่ได้มีผลต่อราคารถยนต์ใหม่มากนัก เพราะอัตราภาษีที่หายไปมีไม่เยอะ ยกตัวอย่าง รถกระบะที่มีอัตราภาษีสรรพสามิตเฉลี่ย 5,000 บาทต่อคัน ภาษีที่หายไปแค่ 2,500 บาท แต่สิ่งนี้กลับจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์มากกว่า ที่เห็นชัดคือหลังจากมีกระแสข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ทำให้การซื้อขายรถยนต์ใหม่เกิดภาวะการชะงักงัน จนกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการทำตลาดและสร้างยอดขายของผู้ประกอบการเอง
“ขอให้ประชาชนที่มีความต้องการซื้อรถยนต์และรอผลการพิจารณาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต ตัดสินใจซื้อรถยนต์ได้เลย เพราะสถานการณ์นี้ถือว่าไม่เหมาะสมที่จะพิจารณาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และการลดภาษีก็ไม่มีประโยชน์และไม่ส่งผลต่อราคารถยนต์มากนัก แต่กลับจะส่งผลลบมากกว่า เพราะเท่ากับไปแทรกแซงกลไกตลาด ที่กำลังจะฟื้นตัวหลังวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 คลายตัวลง” อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุ และว่า ช่วงเวลานี้ถือเป็น “โอกาสทอง” ที่ประชาชนจะซื้อรถยนต์ได้ในราคาที่จูงใจและมีโปรโมชั่นเสริมจากผู้ประกอบการที่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐอยู่แล้ว
ด้าน นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า เหตุผลที่ได้จากกรมสรรพสามิต ถือเป็นสิ่งที่สมาคมฯและสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมด้วยกัน คือ ผู้ประกอบการรถยนต์ทุกคน ยอมรับได้ จากนี้คงต้องสื่อสารไปยังประชาชนที่อยู่ระหว่างตัดสินใจซื้อรถยนต์ ให้ดำเนินการตัดสินใจซื้อได้เลย แม้จะไม่มีการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ แต่กลุ่มผู้ประกอบการจะพิจารณาออกแคมเปญสร้างแรงจูงใจมากระตุ้นยอดขาย
“เดิมทีเราคิดแค่ว่า หากกรมสรรพสามิตลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ลง จะช่วยกระตุ้นยอดขายได้เพิ่มขึ้น หลังจากช่วง 4 เดือนแรกของปี พบว่าภาพรวมยอดขายรถยนต์ลดลงมากถึงร้อยละ 50-60 และคาดว่าทั้งปีจะลดลงเฉลี่ยราวร้อยละ 50 อีกทั้ง ยังจะมีส่วนในการรักษาซัพพลายเชน และแรงงานในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ได้ แต่เมื่อพวกเราฟังเหตุผลจากกรมสรรพสามิต ก็ยอมรับได้ จากนี้ เราจะกลับไปคิดวิธีการอื่นๆ ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและซัพพลายเชน รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้อง เช่น เจรจากับธนาคารพาณิชย์เพื่อขอซอฟท์โลนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มลิสซิ่ง เพื่อกระจายต่อไปยังผู้ซื้ออีกที” นายศุภรัตน์ ระบุ
ขณะที่ นายภิญโญ ธนวัชรภรณ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว ยอมรับว่า ข้อสรุปในวันนี้ สมาคมฯและผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้วได้ประโยชน์ เพราะอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อยอดขายของรถยนต์ใช้แล้ว ขณะเดียวกัน สิ่งนี้ก็ไม่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ใหม่ เพราะเมื่อโครงการในลักษณะนี้สิ้นสุดลง โอกาสจะกระตุ้นยอดขายให้กลับขึ้นมาในภาวะปกติก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลาอีกนาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากข้อเสนอให้กรมสรรพสามิตพิจารณาลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ลงร้อยละ 50 แล้ว ยังมีอีก 2 ข้อเสนอที่พ่วงท้ายตามมา นั่นคือ ข้อเสนอการนำรถยนต์เก่ามาแลกรถยนต์ใหม่ และชะลอนโยบายการปรับเปลี่ยนให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องใช้มาตรฐานยูโร 5 และ ยูโร 6 ออกไปก่อน ซึ่ง นายพัชร ระบุว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่กรมสรรพสามิต แต่ยังมีหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม จำเป็นจะต้องหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้น ทราบว่าทางภาคเอกชนเอง จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ช่วยเหลือใน 2 ข้อเสนอดังกล่าว ในโอกาสต่อไป.